'ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม'ขีดเส้น90วันรฟท.ต้องอุทธรณ์ก่อนเสียที่ดินเขากระโดง
เมื่อวันที่ 8พ.ย.67 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักวิชาการกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อโพสต์ทูเดย์ว่า มติคณะกรรมการสอบสวนลงนามโดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยถือเป็นคำสั่งทางปกครอง การรถไฟแห่งประเทศไทย คู่กรณี ย่อมมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิในการอุทธรณ์และกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามมาตรา 48 ประกอบมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม มาตรา 42 วรรคสองประกอบมาตรา 49 แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
หากไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนฟ้องคดีปกครอง ที่ดินเขากระโดงที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นสมบัติของแผ่นดินจะตกเป็นของเอกชนทันที ดังนั้น ประชาชนต้องช่วยกันรักษาสมบัติของแผ่นดิน
มติคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ “รูปแผนที่ดิน”เป็นเหตุให้คณะกรรมการสอบสวนฯยุติเรื่อง และไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง ประชาชนสับสน ตกใจกันทั้งประเทศว่าจะมีอำนาจเหนือ อำนาจของตุลาการศาลยุติธรรมได้อย่างไร จึงเกิดตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและอำนาจของคณะกรรมการสอบสวน หากใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เพราะมติคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นเพียงการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นเพียงคำสั่งทางปกครอง เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นในคดีปกครอง และยังไม่สิ้นสุด
กรณีมติคณะกรรมการสอบสวนฯที่ดินเขากระโดง ไม่เชื่อในรูปแผนที่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยได้หยิบเอาข้อเท็จจริงบางส่วน จากหนังสือจากจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ บร 0020.4/186 ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 แจ้งผลการตรวจสอบว่า รูปแผนที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างสิทธินั้นได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 และปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปแล้วประมาณ 900 กว่าแปลง โดยผู้ฟ้องคดี(การรถไฟฯ) นำแผนที่ไปใช้ประกอบการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846-476/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 มติคณะกรรมการสอบสวนไม่เชื่อว่า แผนที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด
มติดังกล่าวเป็นการหักมุมคำพิพากษาศาลฎีกา ที่วินิจฉัยเป็นที่สุดแล้ว ว่า เป็นที่ดินตามรูปแผนที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ แต่ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร หากเป็นการร่วมกันใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การรถไฟฯ ย่อมเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีอาญาได้ แยกต่างหากจากคดีปกครอง
การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เชื่อรูปแผนที่ที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลฎีกา โดยใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นว่า รูปแผนที่จัดทำขึ้นในภายหลัง พรฎ.จัดซื้อที่ดิน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่มีแผนที่มาแสดง ถึงแนวเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 27 พ.ย.2465 แตกต่างจากศาลยุติธรรม
โดยศาลฎีกาเชื่อในรูปแผนที่ของการรถไฟ ที่จัดทำขึ้นเมื่อพ.ศ.2531 และพ.ศ.2539 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่มาของมติคณะกรรมการสอบสวนฯ ใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นโดยอ้างว่า แผนที่จัดทำภายหลังที่นำไปใช้ในคดีแพ่งที่ศาลฎีกาตัดสิน ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ ในที่ดินพิพาท
อีกประการหนึ่ง คณะกรรมการสอบสวนได้หยิบประเด็นตรวจสอบสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการ กปร. จังหวัดบุรีรัมย์ ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 พิจารณา เรื่อง กรณีพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎรในพื้นที่ตำบลอิสาณ และตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินคดีทางศาลแก่ผู้บกรุก โดยมิได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการจัดทำรูปแผนที่แต่อย่างใด
การสำรวจทำแผนที่ทางกายภาพ ในพื้นพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร สองข้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2537 สันนิษฐานว่า น่าจะจัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 และมีมติที่ประชุมการแก้ไขบัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน
ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่า แผนที่ที่ปรากฏตามคำพิพากษา ไม่ใช่ แผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างประกาศลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2464...”
จะเห็นได้ว่า การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวนฯเขากระโดงชุดนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดคำสั่งทางปกครองใหม่ เป็นช่องทางกฎหมายปกครองที่ประวิงเวลา ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์และยุติเรื่อง เป็นการใช้เทคนิคช่องทางกฎหมายมหาชน หากคู่กรณีไปใช้สิทธิอุทิ์คำสั่งและฟ้องศาลปกครอง ซึ่งใช้เวลานาน หากพิจารณารูปแผนที่ศาลฎีกาหยิบไปใช้และรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
แต่คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ กลับสบช่องในหนังสือที่กรมที่ดินนำไปสอบถามการรถไฟแห่งประเทศในเรื่องแผนที่ท้าย พรฎ.จัดซื้อฯและอ้างลอยๆว่า ไม่เชื่อแผนที่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นการหักมุมคำพิพากษาในศาลยุติธรรมในคดีปกครอง เพื่อให้แตกเป็นคดีใหม่ ซึ่งการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวนจะต้องยุดพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว มิฉะนั้น คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการที่ดินเขากระโดง จะเหนือกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นที่สุดแล้ว ซึ่งจะขัดต่อหลักนิติรัฐในประเทศไทย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.