อสส.พิจารณาบันทึกถ้อยคำปมทักษิณ-เพื่อไทยล้มการปกครองส่งศาลรธน.
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.67 นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดโดยคณะทำงานได้สรุปการบันทึกถ้อยคำส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งเพื่อขอทราบ คดีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ โดยคณะทำงานได้สอบถ้อยคำนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวเเทนพรรคเพื่อไทยที่เข้าให้ถ้อยคำตั้งเเต่วันที่ 5 พ.ย.2567
"คณะทำงานได้ส่งบันทึกถ้อยคำให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณามีคำสั่งต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญระบุวันที่จะต้องจัดส่งความคืบหน้าภายใน 15 วัน ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนด เพราะเเม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเผยเเพร่เอกสารในวันที่ 22 ต.ค.2567เเต่จะต้องนับจากวันที่ทางอัยการสูงสุดได้รับหนังสือ"
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการเผยแพร่เอกสารข่าว การพิจารณาคดีสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน เรื่องงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร(ผู้ถูกร้องที่ 1) อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ กระทั่งอัยการสูงสุดออกมาแถลงความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะทำงาน อสส.มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาและมีหนังสือด่วนที่สุดให้ผู้ร้อง (นายธีรยุทธ) ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ราย (นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย) เข้าให้ถ้อยคำโดยมีนายชูศักดิ์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยเข้าให้ถ้อยคำ ขณะที่นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้าให้ถ้อยคำแล้วด้วย
ส่วนนายทักษิณ ยังไม่มีรายงานว่าได้เข้าไปให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง หรือมอบหมายตัวแทนเข้าไปให้ถ้อยคำหรือไม่ ทั้งนี้ตามกรอบเวลา 15 วันดังกล่าว จะครบกำหนดในวันที่ 11 พ.ย. 2567
เมื่อครั้งนายธีรยุทธ ยื่น 6 คำร้องถึง อสส. หลังจากนั้นมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยัง อสส.พิจารณามีคำสั่ง ซึ่งมีรายงานว่า คณะทำงานฯชุดดังกล่าว มีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง
โดยให้เหตุว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมืองเป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต. ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด
หลังจากนั้น อสส.ได้พิจารณาเเล้วเห็นควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานฯอีกชุดหนึ่ง เพื่อเชิญผู้ถูกร้อง และผู้ร้อง เข้าให้ถ้อยคำดังกล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.