จับตานายกฯอิ๊งค์ร่วมเวที GMS-ACMECS พบฮุน มาเนต เดินหน้าMOU44

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 หรือ GMS SUMMIT โดยมีประเทศเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิราวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6 ถึง 7 พฤศจิกายน 2567

ที่น่าสนใจคือการพบกันระหว่าง นางสาวแพทองธาร กับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งประเด็นที่ถูกจับตาคือ เรื่อง MOU44 หรือบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนของไหล่ทวีประหว่างไทย-กัมพูชา โดยฝ่ายไทยเตรียมแต่งตั้ง
คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ขึ้นมาเพื่อเจรจา คาดว่าจะมีการแต่งตั้งไม่เกิน2สัปดาห์ต่อจากนี้หลังการให้สัมภาษณ์ของน.ส.แพทองธาร เมื่อวันที่ 5พ.ย.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยจะเดินหน้าให้เกิดการเจราเพื่อประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง2ประเทศ แต่ยังไม่ชี้ชัดว่ามอบหมายให้บุคคลใดเป็นหัวหน้าคณะกรรมการ JTC
 

นายกฯแพทองธาร เปิดเผยว่าการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 หรือ GMS SUMMIT และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิราวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นโอกาสดีที่ตนเอง จะได้พบเจอกับผู้นำหลายประเทศ เพื่อไปตอกย้ำนโยบายต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยกันไว้ในเวทีของอาเซียน และนำไปสู่การพูดคุยเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ไทยจะขอความร่วมมือ เพื่อทำให้ได้เปิดตลาดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาสให้กับตลาดของไทย เพราะทั่วโลกตอนนี้กำลังเน้นย้ำเรื่องของ Food Security อย่างประเทศจีนเอง ที่แม้จะมีการเกษตรของตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับประชากรของจีนทั้งประเทศ ดังนั้น จีนจะพึ่งพาไทยในเรื่องนี้ได้ และไทยก็จะไปบอกให้นานาชาติมั่นใจว่า ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนอาหาร Food Security ต่าง ๆ เพราะมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม ที่สามารถมาร่วมมือกันให้เกิดเป็นรูปธรรมากขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น

การประชุมครั้งนี้จะได้มีโอกาสพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำด้วย ทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพราะประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่ดี และมีระบบการแจ้งเตือนภัย จำเป็นต้องมาพูดคุยกันว่า ตรงไหนที่ยังขาดเหลือ จะได้มาช่วยและร่วมมือกัน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางชัดอยู่แล้วว่า ปัญหามันเกิดจาก สิ่งรุกล้ำ ขวางกั้นของทางระบายน้ำ และเป็นปัญหาที่จะต้องเคลียร์ในฝั่งไทยด้วย เพื่อเปิดทางระบายน้ำร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักขนาดนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ ประเทศเพื่อบ้านก็อยากได้ความร่วมมือจากไทยไม่ใช่แค่ไทยที่ต้องการได้จากเพื่อนบ้าน 

ส่วนปัญหาฝุ่นควัน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามฤดูของการเผา จะเกิดขึ้นต้นปีหน้า และทำให้มีปัญหา PM2.5 จำเป็นต้องขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะ ควันมาจากหลายทิศทาง พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ถ้าเพื่อนบ้านเผาก็พัดมาหาไทย จึงจำเป็นต้องพูดคุยว่า จะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร หลังจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการตั้งคณะทำงานเรื่องปัญหาฝุ่นควันขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้จะไปตอกย้ำให้คณะทำงานได้เกิดการทำงานขึ้นมาจริง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่าการเดินทางไปประชุมที่จีนครั้งนี้ไทยจะได้ในเรื่องของตลาดส่งออกสินค้าไทย เป็นการไปตอกย้ำการเดินหน้า เพราะเป็นธรรมชาติทางการเมืองทั่วโลก เมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลรัฐบาลต่างประเทศจะถามว่าสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่เคยคุยไว้ ยังทำต่อหรือไม่ และรัฐบาลปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไรก็ถือเป็นโอกาสที่ดีจะได้เน้นย้ำว่า เรื่องการส่งออกเรายังสนับสนุนอยู่ ทั้งสินค้าเกษตร และ Food Security และเชื่อว่า จะได้ผลลัพธ์กลับมา ถ้าประเทศไทยไปต่อ ประเทศต่าง ๆ ที่เราไปคุย เขาก็จะพร้อมดำเนินงานต่อไป และได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.