"อัลไซเมอร์" รู้จัก และเข้าใจกับชีวิตที่ไม่ง่ายของคนใกล้ตัว
ปัจจุบันโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่ลักษณะของสังคมดังกล่าว สังคมผู้สูงอายุจะมาพร้อมปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากอะไร ?
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของของโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง ความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ โปรตีนสำคัญที่ผิดปกติในโรคนี้ คือ เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) และทาว (Tau) เมื่อเกิดการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติเหล่านี้ ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมฝ่อและเสียการทำงาน ทำให้เกิดกลุ่มอาการสมองเสื่อม
อาการของโรคอัลไซเมอร์
จากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้สามารถตรวจวินิฉัยโรคอัลโซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำขี้น และสามารถตรวจโรคนี้ได้ แม้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการชัดเจน ระยะต่าง ๆ ของการดำเนินโรคในโรคอัลไซเมอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะก่อนมีอาการ (Preclinical stage) ในระยะนี้จะเกิดความผิดปกติของเนื้อสมอง แต่ยังไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ
- ระยะที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ของกลุ่มอาการสมองเสื่อมดังกล่าวข้างต้น แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต
- ระยะที่มีภาวะสมองเสื่อมชัดเจน (Dementia) ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีกลุ่มอาการสมองเสื่อมอย่างชัดเจน และมีปัญหาในการดำเนินชีวิต ในระยะที่มีภาวะสมองเสื่อมอย่างชัดเจนนี้ อาการก็อาจจะมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน
ในระยะแรกที่มีภาวะสมองเสื่อมในระดับความรุนแรงน้อยอาการอาจจะมีเพียงการเสียความทรงจำและทักษะต่าง ๆ เล็กน้อยแต่ผู้ป่วยพอช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ในระยะที่มีความรุนแรงปานกลางผู้ป่วยจะมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมเพิ่มขึ้นจากอาการเดิม และเริ่มจะต้องมีผู้ดูแลซึ่งอาจจะเป็นญาติหรือบุคคลากรอื่น ส่วนในระยะที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะเสียความจำและทักษะต่างๆ ตลอดจนมีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์มากขึ้น และมีความผิดปกติในระบบการเคลื่อนไหวทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดการเสื่อมของการทำงานของสมอง จากสาเหตุต่าง ๆ โดยจะแสดงอาการในภาพรวมออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
- มีความผิดปกติทางด้านความทรงจำและทักษะต่าง ๆ (Cognition) เช่น หลงลืมสิ่งที่ทำไปแล้ว ความสามารถในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ลดลง สับสนในเรื่องทิศทาง วันเวลา และสถานที่ เป็นต้น
- มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม (Behavior) เช่น มีอารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าวขึ้น ประพฤติตนในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เป็นต้น
- มีความผิดปกติในการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน (Activity in Daily Life) เช่น ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ และในที่สุดอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นต้น ผลจากอาการในภาพรวมดังกล่าว จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทั้งตัวผู้ป่วยคนรอบข้างและสังคม ดังนั้นการมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมจึงเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยการดูแลรักษา และการเตรียมตัวแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ป่วย ญาติ และสังคมโดยรวม
ศ.นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์นับเป็นโรคหนึ่งในผู้สูงอายุที่โลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด จากสถิติทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไปพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 3-6 และมักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่านั้นพบโรคนี้น้อย และส่วนใหญ่เกิดจากโรคทางพันธุกรรม ในปัจจุบันแม้ว่าการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ จะมีข้อมูลใหม่ ๆ เป็นจำนวนมากแต่ก็ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเพียงแต่ทราบพยาธิวิทยาและการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรวิทยา ที่เป็นผลทำให้เกิดอาการต่างๆ และทราบปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ ดังนั้น ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้แต่อาจควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยการปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรวิทยาของโรคนี้ ส่วนการป้องกันก็เช่นเดียวกัน คือไม่สามารถป้องกันได้เด็ดขาด เพียงแต่อาจชะลอการเกิดอาการหรือลดความรุนแรงของอาการของโรคดังกล่าว โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ชักนำให้เกิดอาการของโรค
หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายและการดำเนินโรคก็จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เป้าหมายของการดูแลรักษาจึงเน้นการรักษาอาการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อญาติ ผู้ดูแล และสังคมรอบข้างน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์นั้นมีทั้งแบบที่ไม่ใช้ยา (Non-pharmacological) และแบบใช้ยา (Pharmacological) การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น ให้ผู้ป่วยจดบันทึกกิจวัตรต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำเพื่อเตือนความจำ การจัดสภาวะแวดล้อมที่ผู้ป่วยอยู่อาศัยให้เรียบร้อย เพื่อลดการสับสน และลดอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย การลดสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น ลดการโต้แย้งกับผู้ป่วย เป็นต้น อีกทั้งควรจัดเตรียมให้ผู้ป่วยได้บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดสารอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพทั่วไปดี นอกจากนี้ควรให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมออกไปพบปะผู้คนเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้าสังคม
สำหรับการรักษาแบบใช้ยาอาจจะช่วยในเรื่องความจำ และทักษะต่าง ๆ ที่ลดลงของผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง ยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่ ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ (Enzyme) โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase inhibitors) ซึ่งมีทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำ และยาแผ่นแปะ ส่วนยาอีกลุ่มหนึ่งที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ยาที่ยับยั้งตัวรับเอนเอ็มดีเอ (NMDA receptor antagonists) สำหรับความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม นอกจากจะหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวแล้ว ยาทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นอาจช่วยควบคุมอาการเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในบางครั้งถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจมีการจำเป็นต้องใช้ยาทางจิตเวชเพื่อควบคุมอาการดังกล่าวร่วมด้วย การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นอกจากการดูแลรักษาความผิดปกติที่เกิดจากโรคนี้โดยตรงแล้ว จำเป็นจะต้องเผ้าระวังหรือดูแลรักษาโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกับโรคอัลไซเมอร์ได้ เนื่องจากโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุมักจะมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว
สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก จำเป็นจะต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นบุคคลกรเหล่านี้จะเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลงเรื่อยๆ และอาจจะมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมร่วมด้วย จึงทำให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาดังกล่าวเป็นภาระหรืองานที่หนัก สำหรับผู้ดูแลและอาจก่อให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด ความซึมเศร้า หงุดหงิด ต่อผู้ดูแลและอาจทำให้ผู้ดูแลมีปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วยในภาพรวม ดังนั้นเพื่อให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยนั้นมีความสุขไปด้วยกัน ผู้ดูแลควรมีแนวทางการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น
- เข้าใจโรคอัลไซเมอร์: ควรหาความรู้และทำความเข้าใจกับโรคอัลไซเมอร์ให้ดี เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการ ระยะเวลาการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้น วิธีการดูแลรักษาและแนวทางการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อผู้ดูแลจะได้สามารถจัดการวางแผนการดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
- คอยให้กำลังใจผู้ป่วย: ในระยะแรกที่ผู้ป่วยมีอาการน้อยควรให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับอาการป่วยของตนเอง มีกิจวัตรประจำวันต่างๆ เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกด้อยค่าหรือเป็นภาระ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกมีคุณค่า และมีความมั่นใจมากขึ้น
- ทำกิจกรรมที่เหมาะสม: จดรายการกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์ เพื่อเตือนความจำและให้ผู้ป่วยสามารถทบทวนได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สุขภาพกายดี และผู้ป่วยได้ผ่อนคลายไปในตัว ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นครั้งคราวหรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือเข้าสังคม เท่าที่ผู้ป่วยจะทำได้
- เข้าใจผู้ป่วย: บางครั้งผู้ป่วยอาจแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติที่ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกผิดหวัง เครียด วิตกกังวลหรือซึมเศร้า ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าอาการแสดงดังกล่าวของผู้ป่วยเป็นผลมาจากอาการของโรค ไม่ควรโกรธหรือโต้ตอบผู้ป่วยด้วยอารมณ์ เมื่อผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม ดังกล่าว ซึ่งมักเป็นปัญหาที่ยากที่สุดปัญหาหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ดูแลพึงสังเกตปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นและพยายามแก้ไขปัจจัยที่แก้ไขได้ โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมและบุคคลรอบข้างผู้ป่วยที่อาจทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นเป็นหลัก การที่จะแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยพยายามปรับตัวมักทำได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยเป็นเป็นโรคนี้จึงไม่สามารถปรับตัวได้เหมือนคนปกติ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยกับแพทย์ผู้รักษา: การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ดูแลซึ่งเป็นบุคคลากรที่อยู่กับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลาควรสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วยทั้งความผิดปกติของโรคทางกาย และความผิดปกติของอารมณ์ และพฤติกรรมรวมทั้งบันทึกความผิดปกติเหล่านี้และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อถึงเวลานัดตรวจโรค ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ช่วยแพทย์ญาติและผู้ดูแลร่วมกันในการปรับการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
น.ส. กัญญารัตน์ จิตต์ประสงค์ ข้าราชการบำนาญ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ว่า ผู้ดูแลควรจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ โดยผลัดเปลี่ยนเวรกับคนรอบข้างช่วยกันดูแลผู้ป่วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด หงุดหงิด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยในระยะยาว และการหากิจกรรมที่ผู้ดูแลที่ตนเองชื่นชอบ เพื่อผ่อนคลาย หากผู้ป่วยสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกันได้ ก็จะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน
“สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์การดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้หรือต้องการคำแนะนำ สามารถเข้าไปปรึกษาขอคำแนะนำต่าง ๆ จากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการสมองเสื่อม เช่น สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ดูแลโรคสมองเสื่อมและมูลนิธิอัลไซเมอร์ได้ เพื่อนำความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ ในการรับมือกับผู้ป่วย รวมทั้งได้เครือข่ายในการให้กำลังใจที่จะช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.