"ประจำเดือน" ผิดปกติ สาเหตุของโรคอะไรบ้าง?

“ประจำเดือน” คือเยื่อบุของโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง ในปกติผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน และแต่ละรอบจะยาวนานราว 2-7 วัน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีความผิดปกติอะไรบ้างอย่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ได้


เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นอย่างไร?

รศ.นพ.สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา แพทย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด สามารถแบ่งผู้ป่วยได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังไม่ควรจะมีประจำเดือน เช่น เด็ก หรือวัยรุ่นผู้หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน กับ กลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ในสองกลุ่มนี้ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอด ถือว่ามีความผิดปกติ

สำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ อาจพบได้ ดังนี้

  1. เลือดประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติ ทั้งในแง่ของปริมาณ และระยะเวลาที่มีประจำเดือน
  2. มีเลือดออกมานอกรอบประจำเดือน 


สาเหตุของเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

  1. รังไข่ทำงานผิดปกติ
  2. ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนผู้หญิงทดแทนในวัยหมดประจำเดือน
  3. ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  4. โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคเนื้องอกในมดลูกที่สามารถพบได้บ่อย รวมถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน


เลือดออกผิดปกติในช่องคลอดอย่างไร ควรมาพบแพทย์

  1. ผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือน (ยังไม่มี หรือหมดแล้ว) แต่มีเลือดออกทางช่องคลอด เช่น ในเด็ก หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  2. ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือนปกติ แต่มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือนด้วย หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  3. มีประจำเดือนในปริมาณที่มากขึ้น หรือมีระยะเวลาของประจำเดือนนานขึ้น สังเกตได้จากการที่ใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 4 แผ่นชุ่มๆ ต่อวัน หรือมีประจำเดือนในแต่ละรอบมากกว่า 7 วัน ซึ่งทำให้มีอาการเหนื่อย เพลีย หลังมีประจำเดือนจากภาวะโลหิตจางได้


การตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อมีเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการที่เป็นอยู่เพื่อหาสาเหตุอย่างคร่าวๆ จากนั้นในบางรายที่มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจขอตรวจภายใน และอาจจะต้องมีการตรวจเซลล์ของปากมดลูกที่เรียกว่า Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองภาวะมะเร็งปากมดลูก (แนะนำให้ตรวจทุกๆ 2-3 ปี ในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ติดเชื้อ HIV แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุกปี)

ในบางกรณี แพทย์อาจขอตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก โดยการขูดมดลูก หรือเอาเซลล์ของมดลูกมาตรวจ ในกรณีที่แพทย์อาจสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกหรือไม่ แพทย์อาจขอตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือที่เรียกว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และในกรณีที่จะตรวจระดับฮอร์โมน แพทย์อาจขอเจาะเลือดตรวจ ซึ่งนอกจากจะตรวจระดับฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถตรวจภาวะโลหิตจางได้ด้วย


การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

ถ้าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของรังไข่ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยา เพื่อควบคุมการทำงานของรังไข่ แต่ถ้ามีเนื้องอกในมดลูก หรือมีมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ อาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้รังสีรักษา

 

สำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด สามารถเข้ารับคำปรึกษาที่แพทย์แผนกสูตินรีเวชตามโรงพยาบาลทั่วไปใกล้บ้าน หรือสามารถติดต่อได้ที่คลินิกนรีเวช อาคาร ภปร. ชั้น 7 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.