สรุปแรงสั่นสะเทือน “แลนด์บริดจ์ VS อันดามันมรดกโลก”
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat โดยได้เล่าถึงโครงการเชื่อมต่อยักษ์ใหญ่ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามันในหัวข้อ “แลนด์บริจด์ VS อันดามันมรดกโลก” หลังมีข่าว หวั่นสร้าง“แลนด์บริดจ์” สะเทือน “ทะเลอันดามัน” ขึ้นบัญชีมรดกโลก โดยได้ทำการสรุปโครงการทั้งสองสั้นๆ ให้แฟนเพจได้เข้าใจดังนี้
เริ่มจากการสรุปแต่ละโครงการแบบสั้นๆ
แลนด์บริจด์ - โครงการที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาหลายครั้ง เป้าประสงค์คือเชื่อมต่ออ่าวไทย-อันดามัน โดยมีการย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ
เท่าที่จำได้และเคยไปดู คือ กระบี่ พังงา สตูล ก่อนสุดท้ายมาที่ชุมพร-ระนอง
ปัญหาของแลนด์บริจด์ในฝั่งอ่าวไทยไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะไปติดที่ฝั่งอันดามัน เพราะชายฝั่งแถบนั้นมีทรัพยากรมากมาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสุดๆ ของไทย
การเข้ามาของการพัฒนาขนาดใหญ่ย่อมทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบ
แลนด์บริจด์กลับมาอีกครั้งโดยตั้งเป้าไว้ที่ระนอง
ครม.สมัยก่อนให้สภาพัฒน์รับหน้าที่ศึกษา สภาพัฒน์จ้างจุฬาฯ ศึกษาเสร็จแล้วพบว่าไม่ใช่ทางเลือกอันดับแรก
เคยเล่าเรื่องนี้แล้ว หลายครั้งแล้ว ลองย้อนไปอ่านโพสต์เก่าๆ ของผมนะครับ
อย่างไรก็ตาม ครม.ชุดนี้รับทราบแลนด์บริจด์ วงเงิน 1 ล้านล้าน เป็นแบบ PPP โดยการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการ เป็นระยะเวลา 50 ปี
ตั้งเป้าว่าจะเปิดบริการในปี 2573
อันดามันมรดกโลก - ย้อนหลังไป 20+ ปีก่อน เริ่มมีแนวคิดผลักดันเขตอนุรักษ์ฝั่งทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลก
ผ่านการสำรวจศึกษา ประชุมนับร้อยครั้ง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมาลงเอยที่อันดามันเหนือ มีอุทยาน 6 แห่งและพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง
ผ่านครม. (ชุดก่อน) เพื่อนำเสนอ tentative list จนสุดท้ายคณะกรรมการมรดกโลก (สากล) รับรองข้อเสนออย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
จากนั้นเราจะทำข้อเสนอทั้งหมดให้พิจารณา องค์กรสากลส่งคนมาตรวจเช็คพื้นที่ ฯลฯ โดยตั้งเป้าว่าอีก 2-3 ปีจะพิจารณาว่าได้ไม่ได้
แลนด์บริจด์ VS อันดามันมรดกโลก
จุดตัดคือชายฝั่งระนอง ท่าเรืออ่าวอ่างที่ตั้งเป้าไว้
แม้ไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ แต่ท่าเรือแทรกเข้ามาระหว่างรอยต่ออุทยาน เส้นทางมาสู่ท่าเรือยังอาจต้อง “เฉียด” หรือทับซ้อนกับป่าชายเลนผืนใหญ่สุดของไทยที่นำเสนอเป็นมรดกโลก
อีกจุดที่ต้องพิจารณาคือเส้นทางเดินเรือ เนื่องจากเรือคงไม่เข้าไปวิ่งในเขตทะเลเมียนมาร์ ทางหลักคือเข้ามาเลียบฝั่งอันดามันเหนือ ตรงนั้นมีทั้งเกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ ฯลฯ
หากเกิดอุบัติเหตุใดๆ อาจหมายถึงปัญหาใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญสุดบ้านเรา
มุมมอง/การวิเคราะห์
ถือเป็นโจทย์หลักของไทยหากเราอยากได้ทั้ง 2 อย่าง และบอกได้ว่าเป็นโจทย์โหดหินสุดๆ
PPP หมายถึงให้เอกชน+รัฐ ให้สิทธิ 50 ปี เอกชนในที่นี้คือใครที่จะมีเงินระดับนั้น หากเป็นต่างชาติ ข้อต่อรองย่อมมีเยอะ
PPP ของเมกะโปรเจ็คที่ผ่านมา ไฮสปีดเทรน สนามบินอู่ตะเภา ขนาดเป็นไทยด้วยกัน ไม่ผ่านเขตอนุรักษ์เลย แต่ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ?
สำหรับแลนด์บริจด์ ปัญหาหลักอยู่ที่ “ที่ดิน” โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้ดูแล และมีคนไทยรักธรรมชาติทั่วประเทศคอยจับตา
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่าเรือปากบารา ปัญหาเพิกถอนพื้นที่อุทยาน ทำให้ท้ายสุดต้องพับโครงการลง
อีกตัวอย่างคือโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องขนส่งวัตถุดิบผ่านป่าชายเลน พับโครงการลงอีกเช่นกัน
โครงการยักษ์ใหญ่ขนาดนี้จึงไม่ง่ายเหมือนข้อเสนอ โดยเฉพาะยุคที่ความเขียวครองโลก
กติกาของภาคเอกชนคงคล้ายกัน ส่งมอบที่ดิน 100% ซึ่งนั่นคือโจทย์สำคัญว่าจะทำได้ไหม
หรือแม้แต่ทำได้ คนสร้างอาจมีเงินทุน แต่เรือที่มาใช้มีมหาศาล หากเขารู้สึกว่าท่าเรือไม่เอื้อกับความเขียวอย่างที่โลกต้องการ
มุมมองของโลกเปลี่ยนไป ไม่งั้นสะพาน vs โลมาทะเลสาบสงขลา คงได้สร้างไปแล้วครับ
ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากแลนด์บริจด์ ย่อมเกิดกับข้อเสนอของอันดามันมรดกโลก
เมื่อเขารับข้อเสนอเป็นทางการ ส่งคนมาตรวจ ย่อมถามแน่ๆ ว่าแล้วยูจะดูแลเมกะโปรเจ็คของยูที่จู่ๆ ก็โผล่มาใจกลางพื้นที่ได้อย่างไร
คำมั่นสัญญาที่ไม่มีอะไรรองรับ เช่น เราจะดูแลให้ดีที่สุด เราเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่มีประโยชน์หรอกครับ
เพราะคำเหล่านี้เราใช้ไปแล้วในพื้นที่ EEC แล้วผลเป็นอย่างไรคงพอเห็นได้
หากเราอยากได้ 2 อย่าง เราก็ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง ประสาน 2 หน่วยงานมาด้วยกัน ทั้งคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรฯ
เพราะตอนนี้ 2 กระทรวงถือภารกิจ 2 อย่าง ดูดาวคนละดวง แต่เป็นพื้นที่เดียวกัน
จะลองมาถอดบทเรียนจากสะพานทะเลสาบสงขลาก็ได้นะ ขนาดโครงการเล็กกว่าแลนด์บริจด์ 250 เท่า (ดูที่งบ) ผ่านEIA เรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายมาช่วยกันเต็มที่ ยังไม่จบง่ายๆ เลยครับ
สรุป
สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือแลนด์บริจด์ก็ไม่เกิด เขตมรดกโลกก็ไม่ได้ แล้วยังไงดีล่ะ ?
ประเทศไทยกำลังเดินบนเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งในการคว้าดาว 2 ดวงมาพร้อมกัน
ถ้ายังอยากไปเช่นนั้น เราต้องทุ่มเทให้หนัก ทำงานให้มากขึ้นมากๆ แค่คำสั่งการหรือตั้งคณะกรรมการคงไม่พอ
เริ่มจากถอดบทเรียนแลนด์บริจด์ในอดีต การพัฒนาแบบ PPP ที่ติดขัด โครงการปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายาก การพัฒนาที่ส่งผลกระทบใน EEC ฯลฯ
ประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมรดกโลกที่จะมีต่อการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่พี่น้องคนแถวนั้นอย่างเต็มรูปแบบ (แลนด์บริจด์ทำมาแล้ว)
ประเมินความเสี่ยง โน่นนี่นั่นอีกมากมาย จนไม่รู้จะเขียนยังไงให้หมด
หากดูแล้วปัญหามันเยอะจัด ก็ลองร้องเพลง “ได้อย่างเสียอย่าง”
ด้วยศักยภาพในด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยในตอนนี้ การหมายมั่นเป็นกระต่ายชมจันทร์ทีละ2 ดวง
กระต่ายต้องกระโดดสุดแรง ไม่ใช่แค่สั่งการให้ลูกน้องกระต่ายที่นั่งทำตาปริบๆ อยู่ข้างหลังครับ
ภาพ - ฐานเศรษฐกิจ และ Green Xpress 🙏🏼
ขอบคุณท่านรัฐมนตรีวราวุธ ที่ผลักดันอันดามันมรดกโลกมาจนถึงจุดนี้ และยังคงแสดงความเป็นห่วงในที่ประชุมครม.ครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมครับ
https://www.thansettakij.com/business/economy/579146
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.