7 สัญญาณอันตรายจากการ “นอนมากเกินไป”

“ไม่มีการพักผ่อนแบบไหนที่จะดีต่อร่างกายไปกว่าการนอนหลับ” เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง และตามหลักแล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่หากเรานอนมากเกินไป ร่างกายของเราจะส่งผลเสียอย่างไรหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบมาฝากค่ะ

 

นอนมากเกินไป เสี่ยงโรค?

เชื่อหรือไม่ว่าหากเรานอนมากเกินไป เสี่ยงโรคอยู่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อตรงๆ ว่า โรคนอนเกิน (Hypersomnia) โรคนอนเกินก็คือโรคที่มาจากพฤติกรรมในการนอนหลับที่เกินพอดี โดยมักเกิดขึ้นกับคนที่มีพฤติกรรมขี้เซา นอนมากเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกเพียงพอ จึงทำให้มีบุคลิกเฉื่อยชา เซื่องซึม ไม่กระปรี้กระเปร่า ไร้ชีวิตชีวา และอาจทำให้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน เพราะน้ำหนักจะอ้วนง่ายขึ้น แม้ทานน้อยแต่ก็ยังอ้วนง่าย

 

สัญญาณอันตราย “โรคนอนเกิน”

  1. ตื่นนอนยาก ขี้เซามาก

  2. นอนเท่าไรก็ไม่พอ เพราะยังรู้สึกง่วง เพลีย อยู่ตลอดเวลา

  3. อยากจะงีบนอนวันละหลายๆ ครั้ง

  4. หากมีอาการหนักมาก อาจงีบหลับได้ในสถานการณ์ที่ไม่ควรหลับ เช่น ทานข้าว อยู่ในวงสนทนาที่เสียงดัง ระหว่างทำงาน

  5. หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายกับเรื่องเล็กน้อย

  6. ความจำไม่ค่อยดี สมองไม่ค่อยแล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก หรือคิดช้าทำช้า

  7. วิตกกังวล หรือมีอาการซึมเศร้า

 

อันตรายจากโรคนอนเกิน

เมื่อมีอาการง่วงอยู่ตลอดเวลา ทำให้กลายเป็นคนที่สมองทำงานช้า คิดช้าทำช้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง น้ำหนักก็อาจจะมากขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคอ้วน เมื่อไม่มีการขยับเขยื้อนมากเพียงพอที่จะเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อขาดการติดต่อจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งสารให้ความสุขที่หลั่งในสมองอย่าง เซโรโทนิน และเอนดอร์ฟิน ก็ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า นอกจากนี้หากมีอาการง่วง จนงีบหลับไปขณะขับรถ หรือใช้เครื่องจักร อาจเกิดอาการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้

 

นอนเท่าไรให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย?

อย่างที่ทราบกันคร่าวๆ มาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนว่า ใน 1 วันเราควรนอนหลับราว 8-10 ชั่วโมงสำหรับวัยรุ่น และวัยทำงานอยู่ที่ 6-8 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันมีการอัพเดตช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนอนหลับสำหรับอายุที่ต่างกัน โดยวัยรุ่น และวัยทำงานอยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง

อ่านต่อ >> นอนกี่ชั่วโมง ถึงจะ “พอดี” กับ “อายุ”

 

ดังนั้น ใครที่มีพฤติกรรมในการนอนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา ควรเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป ก่อนเกิดอันตรายกับร่างกายในอนาคต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.