"ไข่" กินอย่างไรให้เหมาะกับอายุของตัวเอง
อย่างที่ทราบกันว่าไข่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี นอกจากแคลอรี่ต่ำแล้ว ก็ยังอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โคลีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี2 บี6 วิตามินอี รวมถึงโฟเลต เลซิธินลูทีน และซีแซนทีน นอกจากนี้ ยังนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายด้วย ทุกบ้านจึงมักมีไข่ไก่หรือไข่เป็ดติดตู้เย็นเอาไว้อยู่เสมอ อย่างน้อย ๆ เวลาที่นึกอะไรไม่ออกก็ยังนำไข่มาทำอาหารได้
อย่างไรก็ตาม การรับประทานไข่ให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องคำนึงถึงวัย และสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย ซึ่ง ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้
หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
ไข่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและเนื้อเยื่อประสาทของตัวอ่อน ทั้งโฟเลต โคลีน โปรตีน และธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยป้องกันความผิดปกติในทารกแรกเกิดได้ดี นักโภชนาการจึงแนะนำให้รับประทานไข่วันละ 1 ฟอง
ทารกอายุ 6-7 เดือน
สำหรับปริมาณโปรตีนที่เด็กทารกอายุ 6-7 เดือนต้องการในแต่ละวัน จะเท่ากับปริมาณไข่ครึ่งฟอง นักโภชนาการจึงแนะนำให้นำไข่ต้มสุกครึ่งฟองมาบดกับข้าวในครั้งแรก และควรให้ในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน
ทารกอายุ 8-12 เดือน
เมื่อทารกเริ่มมีอายุมากขึ้น สามารถเพิ่มปริมาณของไข่ได้ โดยให้อยู่ครึ่งฟอง – 1 ฟองต่อวัน
เด็กอายุ 1-5 ปี เด็กวัยเรียน และวัยรุ่น
เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป จนถึงวัยรุ่น สามารถรับประทานไข่ได้ทุกวัน วันละ 1 ฟอง
วัยทำงาน และผู้สูงอายุ
ในกรณีที่มีสุขภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง สามารถรับประทานไข่ได้ทุกวัน วันละ 1 ฟองเช่นกัน
ผู้ป่วยที่มีภาวะต่าง ๆ
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ และภาวะคอเลสเตอรอลสูง แนะนำให้บริโภคในปริมาณ 3 ฟอง / สัปดาห์ และจำเป็นต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ต้ม-ตุ๋น ดีกว่าการทอด
ส่วนวิธีการนำไข่ไปปรุงอาหารนั้น การนำไปทอดน้ำมันท่วม หรือไปเจียวจนขึ้นฟู ด้วยการใช้น้ำมันในปริมาณที่เยอะ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า เพราะส่วนใหญ่มักจะใช้น้ำมันที่เป็นไขมันอิ่มตัวในการทอด อาทิ น้ำมันปาล์ม จึงก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูงตามมาได้ หากจะทอดควรใช้ปริมาณน้ำมันน้อย ๆ แต่ถ้าให้ดีต่อสุขภาพ ควรนำไปต้ม หรือไปตุ๋นโดยใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ไม่ควรกินไข่ดิบ!
ดร.วนะพร แนะนำว่าการบริโภคไข่ที่ดี คือการรับประทานไข่ที่สุก และไม่ผ่านการแปรรูป จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะไข่ขาวที่ดิบจะมีสารอะวิดิน ซึ่งไปขัดขวางการดูดซึมของวิตามินที่เรียกว่าไบโอตินหรือวิตามินเอชได้
ไบโอตินเป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงเส้นผม เล็บ ผิวหนังให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบเผาผลาญพลังงาน ตลอดจนเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับการควบคุมเมตาบอลิซึมของไขมันด้วย การรับประทานไข่ดิบที่ไปขัดขวางการดูดซึมของไบโอติน จึงอาจส่งผลให้ผมร่วง ผิวหนังเป็นขุย และเล็บไม่แข็งแรงได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.