สุดทึ่ง! ค้นพบ "จารึกประตูท่าแพ" ของเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ ซ่อนตัวอยู่ในที่ที่คาดไม่ถึง

เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ และวงการโบราณคดีของเมืองไทยเลย หลังจากที่ทาง สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ได้มีการประกาศค้นพบ จารึกประตูท่าแพ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

โดยทาง สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ได้บอกเล่าเรื่องราวการค้นพบในครั้งนี้ไว้ดังนี้

"ตามที่สังคมให้ความสนใจตามหา​ "จารึก​ประตูท่าแพ" หรือ​ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" เมืองเชียงใหม่​ และได้มีกลุ่มนักวิชาการ​บางส่วน​ให้ข้อมูล​ว่า​ จารึกดังกล่าวเก็บรักษา​ไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​เชียงใหม่​ เพื่อทำให้ประเด็น​ข้อสงสัยดังกล่าวกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น​ สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ จึงได้ประสานข้อมูล​กับภาคส่วนต่าง​ ๆ​ จนทำให้เริ่มพบเบาะแส​ของจารึกประตูท่าแพ​ ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นเลย​ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ.


เพื่อไขปริศนา​ดังกล่าว​ วันนี้​ (1 พฤศจิกายน​ 2566​) สำนักศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ นำโดย​ นายเทอดศักดิ์​ เย็น​จุ​ระ​ ผู้อำนวยการ​กลุ่ม​อนุรักษ์​โบราณสถาน​ พร้อมด้วย​ ผู้แทนเทศบาลนคร​เชียงใหม่​ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์​ ผู้แทนคณะวิจิตรศิลป์​ ผู้แทนคลังข้อมูล​จารึก​ล้านนา​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ และนักวิชาการ​ท้องถิ่น​ ร่วมกันเปิดประตูห้องที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน​ ซึ่งไม่ได้เปิดมาตลอดระยะเวลา​หลายสิบปี​ และเข้าไปทำการสำรวจภายในจนพบว่า​ "จารึก​ประตูท่าแพ" หรือ​ "จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ" ยังคงปักยืนตระหง่าน​ ซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพ​ จนกระทั่งปัจจุบัน​ นำมาซึ่งความปิติ​ของทีมผู้ร่วมค้นหาทุกท่าน.

ทั้งนี้จารึก​ประตูท่าแพ​ เป็นหนึ่งในจารึกหลักสำคัญ​ที่ฝังอยู่​ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต​ ต่อมาราวช่วงปี​ พ.ศ.​ 2529 ​- 2530 จารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้าย​ในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุง​ประตู​ท่าแพให้เป็น​ Landmark ของเมืองเชียงใหม่​ หลังจาก​นั้น​ ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจารึกประตูท่าแพตลอดระยะเวลาเกือบ​ 40​ ปี​ จนกระทั่งมีการตามหาจนพบในวันนี้.

สำหรับ​ความสำคัญ​ของจารึก​ประตูท่าแพ​ จากการศึกษา​ของ​ ศ.​ ประเสริฐ​ ณ​ นคร​ พบว่า​ เป็นจารึกอักษร​ธรรมล้านนา​ ตารางบรรจุตัวเลข​ และวงดวงชะตา​ ข้อความอักษร​เมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว​ ถอดความตามส่วนดังนี้​ ข้างบนมีข้อความว่า​ "อินทขีล​ มังค (ล)​ โสตถิ" ข้างซ้ายมีข้อความ​ว่า​ "อินทขีล​ สิทธิเชยย" ข้างขวามีข้อความว่า​ "อิน...." และข้างล่างมีข้อความว่า​ "อินทขีล​ โสตถิ​ มังคล" โดยคำสำคัญ​ที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าว​ว่า​ "อินทขีล" เป็นภาษาบาลี​ แปลว่า เสาเขื่อน​ เสาหลักเมือง​ หรือธรณีประตู​ จึงสรุปนัยสำคัญ​ได้ว่า​ จารึก​หลักนี้​ มีความสำคัญ​ในฐานะเสาประตูเมือง.

นอกจากข้อความ​ข้างต้นแล้ว​ จารึกประตูท่าแพยังมีความพิเศษ​ตรงที่​ เทคนิคการทำจารึก​ ซึ่ง แต่เดิมจารึกด้านที่​ 1 ไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี​ จนกระทั่งในช่วง​ พ.ศ.​ 2529 อ.เรณู​ วิชาศิลป์​ แห่งวิทยาลัยครู​เชียงใหม่​ (ขณะนั้น)​ ได้ค้นพบและเสนอว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับ​ คล้ายดังเป็นเงาในกระจก​ จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้.

การค้นพบจารึกหลักสำคัญ​ที่หายไป​จากความทรงจำในวันนี้​ สำนักศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ต้องขอขอบคุณ​ผู้มีส่วนร่วมสำคัญทุกท่าน​ ประกอบด้วย​ ศาสตราจารย์​เกียรติคุณ​สุรพล​ ดำริห์กุล, พ่อครูศรีเลา​ เกษพรหม​ ศูนย์​การเรียนรู้จารึก​และเอกสารโบราณ, เทศบาลนคร​เชียงใหม่, คุณ​อรช บุญ-หลง​ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ. ดร. ปรัชญา​ คัมภิรานนท์และ​ ผศ.กรรณ​ เกตุเวต​ คณะวิจิตรศิลป์​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่, และ​ ดร.อภิรดี​ เตชะศิริวรรณ​ คลังข้อมูล​จารึก​ล้านนา​ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​"


Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.