ค่าเงินบาทเปิด 36.96 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ทองลง 150 บาท

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.82 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.81-36.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) โดยหลังจากที่เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าทะลุระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ ก็อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในตลาดก็กระจุกอยู่ในหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +3.9%, Apple +2.0% โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.56% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยลดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส สะท้อนจากการปรับตัวลงของดัชนี CAC40 ของฝรั่งเศสราว -0.69% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ Tech. Services อย่าง SAP +2.4% 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.34% หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันศุกร์ นอกจากนี้ ในช่วงนี้ก็มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีการขายบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าวก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรา ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD บ้าง หลังเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวขึ้นใกล้จุดสูงสุดในรอบ 1 เดือน ซึ่งแรงขายทำกำไรดังกล่าวก็พอช่วยชะลอโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กลับสู่โซนแนวรับแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะดังกล่าวในการทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งเรามองว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องและอาจไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เฟดประเมินไว้ ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เฟดสามารถเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB และ BOE 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทจนทะลุโซนแนวต้าน 36.85 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากกว่าที่เราประเมินไว้) จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอแถวโซนแนวต้านดังกล่าวได้ หากเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ยังคงต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังแรงขายสินทรัพย์ไทยก็เริ่มชะลอลงได้จริงตามที่เราประเมินไว้ และหากบรรยากาศในตลาดการเงินไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องและอาจเริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับได้ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ โดยอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ว่าจะออกมาแย่กว่าคาด หรือสะท้อนภาพการชะลอลงต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้หรือไม่

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์ 

ราคาทองคำ

ขณะที่ ราคาทองวันนี้ 27 มิ.ย. 2567 ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ เวลา 09. 02 น. (ครั้งที่ 1) ราคาทองคำลง 150 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ มีราคาดังนี้

ราคาทองคำแท่ง

รับซื้อ 40,150.00 บาท

ขายออก 40,250.00 บาท

ราคาทองรูปพรรณ

รับซื้อ 39,431.16 บาท

ขายออก 40,750.00 บาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.