แกะรอยงบการเงินธุรกิจ Food Delivery ขาดทุนอ่วม เว้น Grab พลิกมีกำไร 2 ปีหลัง

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 มีมติอนุมัติให้ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SCBX ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยจะทำการยุติการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เป็นต้นไป หลังจากแอปพลิเคชัน Robinhood ได้ดำเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า การยุติกิจการครั้งนี้ ช่วยให้ SCBX หยุดรับรู้ผลขาดทุนจากหน่วยธุรกิจแอปพลิเคชัน Robinhood โดยตามฐานข้อมูล DBD พบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บจก.เพอร์เพิล เวนเจอร์ส มีผลขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2565-2566 มีผลขาดทุน 2,000 ล้านบาท และ 2,100 ล้านบาท (เฉลี่ยขาดทุน 180 ล้านบาทต่อเดือน) ตามลำดับ

โดยหากอิงผลขาดทุนปี 2566 ข้างต้น และอยู่บนสมมติฐานว่าผลขาดทุนหลักของ บ.ย่อย ดังกล่าว มาจาก Robinhood เป็นหลัก จะส่งผลให้ SCBX ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ราว 900 ล้านบาท คิดเป็น Upside ต่อประมาณการกำไร SCBX ปี 2567 ราว 2% 

อย่างไรก็ตาม การยุติกิจการ มีโอกาสตามมาด้วยค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงาน และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้แล้วบางส่วน ซึ่งงบดุลของของ บจก.เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ณ สิ้นปี 2566 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนราว 1,900 ล้านบาท หากมีการตั้งด้อยค่าฯจะอยู่ในส่วนนี้เป็นหลัก) และหนี้สินรวม 797 ล้านบาท เหลือสินทรัพย์สุทธิ 2,700 ล้านบาท

ภาพรวมฝ่ายวิจัยฯ มองกลางต่อประเด็นนี้ เพราะหากมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์อาจไม่มี Upside ต่อประมาณการปีนี้ที่ 44,000 ล้านบาท (+2%YoY) ส่วนปี 2568 จะมี Upside ไม่เกิน 5% ของประมาณการกำไรที่ 45,000 ล้านบาท (+2%YoY) ตามการหยุดรับรู้ผลขาดทุนข้างต้น คงคำแนะนำ “Neutral” ราคาเป้าหมาย 111 บาท

เปิดงบการเงิน “Robinhood”  

แม้ทาง SCBX จะแจ้งยุติการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Robinhood ด้วยเหตุผลที่ว่าแอปพลิเคชัน Robinhood ได้ดำเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์เรียบร้อยแล้ว

แต่หากมาดูในแง่ของงบกำไรขาดทุนของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ย้อนหลัง 4 ปี จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 

ปี 2563 
มีรายได้ 81,549 บาท 
มีผลขาดทุน 87,829,231 บาท

ปี 2564 
มีรายได้ 15,788,999 บาท 
มีผลขาดทุน 1,335,375,337 บาท

ปี 2565
มีรายได้ 538,245,295 บาท 
มีผลขาดทุน 1,986,837,776 บาท

ปี 2566
มีรายได้ 724,446,267 บาท 
มีผลขาดทุน 2,155,727,184 บาท

จะเห็นได้ว่า บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2563 มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มีผลขาดทุนตั้งแต่ปีแรก (ปี 2563) ที่เปิดให้บริการ โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ Robinhood ไม่มีนโยบายเก็บ GP

เจาะงบกำไรขาดทุน 3 Food Delivery

ขณะที่หากมาดูธุรกิจ Food Delivery รายอื่นๆ ซึ่งขอหยิบยกมาอีก 3 ราย ได้แก่ Grab, LineMan และ Foodpanda

โดย Grab ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2556 เป็นเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด เมื่อดูงบกำไรขาดทุน ย้อนหลัง 4 ปี จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 

ปี 2563 
มีรายได้ 4,890,633,384 บาท 
มีผลขาดทุน 284,280,850 บาท

ปี 2564 
มีรายได้ 11,375,559,973 บาท 
มีผลขาดทุน 325,252,107 บาท

ปี 2565
มีรายได้ 15,197,479,521 บาท 
มีกำไร 576,134,254 บาท

ปี 2566
มีรายได้ 15,622,426,576 บาท 
มีกำไร 1,308,464,289 บาท

โดยรายได้ของ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปี 2566 มีรายได้กว่า 15,600 ล้านบาท ขณะที่พลิกมีกำไรในปี 2565-2566 ที่ 576 ล้านบาท และ 1,308 ล้านบาท ตามลำดับ 

ขณะที่ LineMan ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2562 ครองตลาดอันดับ 2 มีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกับเจ้าตลาด เมื่อดูงบกำไรขาดทุน ย้อนหลัง 4 ปี จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 

ปี 2563 
มีรายได้ 1,066,371,911 บาท 
มีผลขาดทุน 1,114,666,254 บาท

ปี 2564 
มีรายได้ 4,140,036,366 บาท 
มีผลขาดทุน 2,386,522,457 บาท

ปี 2565
มีรายได้ 7,802,774,764 บาท 
มีผลขาดทุน 2,730,849,262 บาท

ปี 2566
มีรายได้ 11,634,419,745 บาท 
มีผลขาดทุน 253,806,613 บาท

โดยรายได้ของ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปี 2566 มีรายได้กว่า 11,600 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 มีผลขาดทุนลดลงเหลือ 253 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีผลขาดทุนมากถึง 2,730 ล้านบาท 

ด้าน Foodpanda ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.2555 แต่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 เมื่อดูงบกำไรขาดทุน ย้อนหลัง 4 ปี จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 

ปี 2563 
มีรายได้ 4,375,128,919 บาท 
มีผลขาดทุน 3,595,901,657 บาท

ปี 2564 
มีรายได้ 6,786,566,010 บาท 
มีผลขาดทุน 4,721,599,978 บาท

ปี 2565
มีรายได้ 3,628,053,048 บาท 
มีผลขาดทุน 3,255,107,979 บาท

ปี 2566
มีรายได้ 3,843,303,372 บาท 
มีผลขาดทุน 522,486,848 บาท

โดยรายได้ของ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ล่าสุด ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.93% จากปี 2565 ขณะที่ผลขาดทุนลดลงเหลือ 522 ล้านบาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.