เปิดผู้ท้าชิงแข่งสนาม Virtual Bank หลังก.คลังออกประกาศล่าสุด
หลังกระทรวงการคลังออกประกาศอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน ด้วยหวังยกระดับประสิทธิภาพของระบบการเงินและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้แม้กระทรวงการคลังจะแย้มว่าเปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาต Virtual Bank ที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติมีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นฝ่ายพิจารณาเองว่าผู้เหมาะสมรายใดจะคว้าไป ภายใต้กรอบที่จะช่วยกระตุ้นการแข่งขัน เพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบ โดยจะเปิดรับยื่นคำขอตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 67 และคาดว่าจะจัดตั้งธนาคารไร้สาขาได้ภายในครึ่งหลังของปี 2568
ทว่าก่อนนี้ทางแบงก์ชาติโดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเปิดมาแล้วว่าควรมีผู้ให้บริการ Virtual Bank เพียง 3 รายเท่านั้นจึงจะเหมาะสม ขณะที่ตอนนี้มีผู้ท้าชิงที่ออกตัวกันมามากกว่าจำนวนที่แบงก์ชาติอยากเห็นไปแล้ว มาดูดันว่าล่าสุดมีใครกันบ้าง
เริ่มจากหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยให้ความเห็นผ่านทางสื่อแล้วว่า นโยบายขับเคลื่อน Virtual Bank เป็นโจทย์สำคัญลำดับต้น ๆ ในปีนี้ จึงกำลังศึกษานโยบายของธปท.และมองหาพันธมิตรอื่น ๆ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก นอกจากจาก KakaoBank ที่เคยประกาศความร่วมมือไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้มองว่าธนาคารไร้สาขาจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่คนรายได้น้อยให้มีทางเลือกเพิ่ม ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึง และชวยให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
โดยย้ำว่าเป้าหมายหลักของ Virtual Bank เพื่อให้มีหน่วยงานหรือธนาคารรูปแบบใหม่มาช่วยเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ แบบที่มีความป็นธรรม และมีเหตุผล กว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ด้วยจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะแก้ปัญหาหนี้ ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนได้ แม้อาจจะไม่ใช่คำตอบ หรือทางออกทั้งหมด แต่การเพิ่มรายได้ ระยะกลางระยะยาว การลดภาระดอกเบี้ยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การเปิดโอกาสในการเข้าถึงทางการเงิน ย่อมทำให้ประชาชนหรือลูกหนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่เป็นอีกผู้ท้าชิงที่ต้องจับตามอง เพราะเป็นการจับมือขององค์กรธุรกิจแถวหน้าในหลายอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 4 พันธมิตร คือได้แก่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR, ธนาคารกรุงไทย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ที่ล่าสุดต่างมีตัวแทนของทั้ง 4 พันธมิตรออกมาอัปเดตความคืบหน้าของการจับมือระหว่างพันธมิตและบทบาทของธนาคารไร้สาขาที่จะมาเติมเต็มและผนึกกับธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างไร โดยกลุ่มนี้คาดว่ามีทุนจดทะเบียนตั้งต้นสำหรับ Virtual Bank ที่ราว 5 พันล้านบาท
อีกหนึ่งผู้แข่งขันล่าใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาจากค่าย CP อย่าง True Money ก็เริ่มขยับแล้วเช่นกัน โดยล่าสุดนางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าว ว่า การที่ธปท. อนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank นั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ในประเทศไทย เพราะเชื่อว่า การมาของธนาคารไร้สาขานี้ จะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามเป้าหมายภายในของ True Money ก็คือการทำ IPO รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะผันตัวเป็น Virtual Bank ด้วยมองว่าแพลตฟอร์มีหลายคุณสมบัติที่จะทำธนาคารไร้สาขาได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการต่าง ๆ ที่คล้ายกับธนาคาร รวมถึงฐานลูกค้าที่แข็งแรง ดังนั้นบริษัทจึงต้องเร่งสร้างการเติบโตที่แข็งแรงมากพอที่จะทำ IPO และการเป็น Virtual Bank ในอนาคต ทำให้สามารถขยายความเสี่ยงในการปล่อยกู้ไปยังกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เซกเมนต์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังยืนยันอีกว่าบริษัทสนใจเปิดให้บริการเทคโนโลยีการเงินหลากหลายอยู่แล้วเช่นเดียวกับ Virtual Bank ที่ธปท.เปิดให้ผู้สนใจขอรับใบอนุญาตและกำหนดเกณฑ์เบื้องต้นออกมา
โดยที่ก่อนหน้าที่มีกระแสข่าวสะพัดว่า มีความเป็นไปได้ที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพีและศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ได้ไปพูดคุยกับ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group เพื่อร่วมมือกันทำธุรกิจธนาคารไร้สาขา
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งผู้ท้าชิงอย่างบมจ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ JMART ที่ประกาศความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามประลองคว้าใบอนุญาต Virtual Bank ทั้งด้าน Ecosystem กลุ่มลูกค้า และเทคโนโลยี ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรที่จะมาช่วยเสริมแกร่ง จากการเปิดเผยของนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) ผู้พัฒนา “JFIN Chain” บล็อกเชนเพื่อธุรกิจ ในเครือ JMART ที่เปิดเผยว่า Virtual Bank เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งหากจะต้องทำจริง ๆ จะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงกับโอกาสว่าด้านใดมากกว่ากันก่อน แล้วถึงพิจารณาเรื่องการเป็น Virtual Bank
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทาง JMART ทำอยู่ตลอดทาง คือ บริษัทมี Ecosystem ที่สะสมมาเรื่อย ๆ และกลุ่มบริษัทเป็นคนขายสินค้าให้กลุ่ม Underserved มากที่สุดในประเทศ ถ้ารวม SINGER, JMT และ สุกี้ตี้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ ธปท. ต้องการให้ผู้ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank ไปให้บริการกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงบริษัทมีเทคโนโลยีที่เข้ากับกลไลเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะไม่ได้เก่งในเรื่อง Banking มากนัก รวมทั้ง Ecosystem และเงินของบริษัทอาจจะยังไม่แข็งแรงในเรื่องของขนาด ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ JMART จะไปร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อที่จะทำให้การได้ใบอนุญาต Virtual Bank ดูดีและเป็นบวกมากที่สุด แต่หากยังมีความเสี่ยงอยู่ บริษัทก็คงยังไม่ทำ
สุดท้ายแล้วต้องลุ้นกันต่อว่าผู้ท้าชิงรายใดจะคว้าใบอนุญาต Virtual Bank ไปครอง แต่ที่สำคัญกว่าคือเมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการจริง ก็หวังว่าธนาคารรูปแบบใหม่นี้จะแก้ pain point อย่างที่ทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังตั้งใจไว้ได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.