“หมาล่า” กับประโยชน์ดีๆ ที่ได้มาพร้อมรสชาติเผ็ดจนชาที่ปลายลิ้น
ช่วงนี้นอกจากกระแสอาหารไทย ขนมไทยจากแม่หญิงการะเกด จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะทำให้อาหารไทยเป็นที่พูดถึง และแวะเวียนกันลองทำ ลองชิมอาหารไทยโบราณกันอย่างครึกครื้นแล้ว ก่อนหน้านี้เล็กน้อยเราได้เห็นความนิยมของอาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เป็นเมนูเป็นจานๆ อย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นการพูดถึงเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่รสชาติเผ็ดจนรู้สึกชาที่ปลายลิ้น แต่หลายคนก็ติดใจจนต้องปาดเหงื่อไป ทานไป ดื่มน้ำตามไปอีกหลายอึก
เรากำลังพูดถึง “หมาล่า” ที่ปรากฏอยู่ในเมนูหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นซอสที่เอาไว้ทาบนเนื้อสัตว์ และผักต่างๆ ก่อนนำไปเสียบไม้ปิ้งย่างเหมือนซอสบาร์บีคิว หรือน้ำซุปหมาล่าในร้านชาบูสไตล์จีน สีแดงเข้มพร้อมน้ำมันจากพริกที่แค่เห็นก็แสบลิ้นแทน เรามาทำความรู้จักหมาล่ากันให้มากขึ้นอีกนิดกันดีกว่า
หมาล่า คืออะไร?
หมาล่า คือเครื่องเทศรสเผ็ดที่มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลเสฉวน ประเทศจีน พี่น้องของไทยเรานี่เอง ใครที่คิดว่าคนจีนไม่ทานเผ็ดอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะคนเสฉวนนี่แหละ คือคนที่ทานเผ็ดได้อย่างแท้จริง เป็นความเผ็ดล้ำลึก และแปลกใหม่ชนิดที่ไม่ได้มีความใกล้เคียงกับรสชาติเผ็ดจากพริกสวนของบ้านเราเลย อธิบายได้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า หมาล่า เป็นเครื่องเทศที่ให้รสชาติ “เผ็ดจนลิ้นชา” ได้เลยทีเดียว โดยคำว่า “หมา” หมายถึงอาการชาที่ปลายลิ้น ในขณะที่คำว่า “ล่า” หมายถึง รสชาติเผ็ด (แปลกันตรงตัวแบบนี้แหละ)
ส่วนประกอบที่ทำให้หมาล่ามีรสชาติเผ็ดจนลิ้นชาได้ คือ เครื่องเทศที่มีชื่อว่า ฮวาเจียว หรือพริกไทยเสฉวน รูปร่างคล้ายเม็ดพริกไทยดำโดยพริกนี้เป็นรสชาติหลักของหมาล่านี่แหละ
วิธีปรุงหมาล่า
หมาล่า สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด และปิ้งย่าง ที่เรานิยมทานกันในไทย คือการทาเป็นซอสชุ่มๆ บนอาหารเสียบไม้ย่าง เช่น หมู ไก่ กุ้ง เบคอน เห็ด กระเจี๊ยบ ฯลฯ และเป็นส่วนผสมของน้ำซุปหมาล่าในร้านชาบู หรือสุกี้สไตล์จีน ส่วนวิธีอื่นๆ คือการนำไปผัดกับเนื้อสัตว์ และผัดจนหมาล่าแห้งเล็กน้อย หรือจะทานแบบลวก โดยคนจีนแถบปักกิ่งจะนำเนื้อสัตว์ไปลงในน้ำซุปหมาล่าที่ปรุงเอาไว้ก่อนทาน แต่ชาวเสฉวนจะนำเนื้อสัตว์ไปลวกก่อน แล้วจึงปรุงซุปหมาล่าทีหลัง
ประโยชน์ของหมาล่า
อันที่จริงแล้วควรจะบอกว่าเป็นประโยชน์ของ ฮวาเจียว มากกว่า รสเผ็ดของฮวาเจียวช่วยขับลมในลำไส้ แก้หวัด แก้วิงเวียนศีรษะ บางคนนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ นอกจากนี้ยังช่วยขับระดูสำหรับสตรีอีกด้วย ส่วนตัวเม็ดฮวาเจียวเอง ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของยาบำรุงหัวใจ และบำรุงเลือดในตำรักยาสมุนไพรของจีนมานานแล้ว
ปรุงอาหารรสชาติเหมือนหมาล่า ด้วยเครื่องเทศของไทย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนไทยเองก็มีสมุนไพรที่มีเชื้อสายเดียวกันกับฮวาเจียวด้วย นั่นคือ “มะแขว่น” เป็นเครื่องเทศของทางเหนือบ้านเรานี่เอง มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายพริกไทยดำเช่นเดียวกัน สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเหมือนกับหารปรุงหมาล่า ทำเป็นซอสหมักเนื้อสัตว์ก่อนนำไปย่าง อบ ทอด หรือจะโปรยลงไปในอาหารจานผัด แกง หรือต้ม เพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับอาหารจานนั้นได้ใกล้เคียงกับหมาล่าเช่นเดียวกัน
ไม่มีรายงานว่ารสชาติเผ็ดจนลิ้นชานี้จะทำร้ายสุขภาพเมื่อทานมากๆ หรือทานไปนานๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตามการทานอาหารรสเผ็ดจัดมากเกินไป อาจส่งผลถึงกระเพาะอาหาร อาจทำให้กระเพาะอาหารผลิตกรดออกมาย่อยอาหารมากเกินความจำเป็น จนทำให้เกิดอาการแสบท้อง ปวดท้อง หรืออาจจะเสาะท้องจนท้องเสีย และแน่นอนว่าส่งผลเสียในระยะยาวในระบบการย่อยอาหารได้ ดังนั้นควรทานหมาล่าแต่พอดี และเลือกทานเมนูที่ให้สารอาหารหลากหลายจะดีที่สุด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.