5 เหตุผล ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ซึมเศร้า” มากกว่าที่คิด
ขณะที่สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2564 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 ซึ่งก็คือการที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาจากการที่มีผู้สูงอายุล้นเมืองยังไม่ค่อยมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าที่ควร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงวัยนั้นต้องการการดูแลทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่มีอนาคตให้คาดหวัง มีแต่ปัจจุบันและอดีตให้ถวิลหาเท่านั้น
การที่ผู้สูงอายุต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การที่จะก้าวข้ามผ่านไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับคนวัยนี้ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ที่อารมณ์และความรู้สึกอาจจะเปราะบางเป็นพิเศษ เมื่อรับมือได้ยาก ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ จนอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ นี่เป็นเรื่องที่คนในครอบครัวจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมพวกท่านให้ดี ว่ามีอะไรผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ อย่ามัวแต่ฟังเสียงบ่นแล้วทำท่าทีรำคาญใส่อย่างเดียว เพราะมันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ อย่าใจร้ายนักเลย เดี๋ยวแก่เองก็จะรู้สึก
“ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจของคนวัยสูงอายุ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกผิดหวัง สูญเสีย ถวิลหาอดีต หรือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต รวมถึงความยากลำบากในการยอมรับความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข จิตใจเศร้าหมอง รู้สึกสิ้นหวัง จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ เราจึงต้องหมั่นสังเกตถึงสัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ รวมถึงทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่สนับสนุนให้พวกท่านรู้สึกเช่นนั้น ดังนี้
5 เหตุผล ทำไม “ผู้สูงอายุ” เสี่ยง “ซึมเศร้า” มากกว่าที่คิด
- เคยทำงานทุกวันต้องมาอยู่เฉยๆ
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รับมือได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาในการปรับตัว แม้ว่าผู้สูงอายุหลายๆ คนจะโหยหาชีวิตสบายๆ ที่ปลดระวางจากการทำงานมาพักผ่อนในช่วงบั้นปลาย แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ มันกลับรู้สึกโหวงอย่างบอกไม่ถูก และทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ขึ้นมาได้ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยชินกับการที่ต้องทำงานมาตลอดหลายสิบปี บางคนเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต พอเกษียณมาชีวิตก็เปลี่ยนไปไม่มีคนมาล้อมหน้าล้อมหลัง หลายคนทำงานหนักมาทั้งชีวิต ก็เปลี่ยนมาเป็นว่างงาน จึงไม่ชินที่จะต้องอยู่บ้านเฉยๆ และไม่ได้ทำในสิ่งที่เคยทำมาตลอด
- ความเหงาที่ต้องอยู่บ้านคนเดียว
พอเกษียณก็ไม่ได้ออกไปทำงาน และต้องมาใช้ชีวิตอยู่บ้านคนเดียวในช่วงกลางวัน เพราะลูกหลานก็ออกไปทำงานไปเรียนหนังสือกันหมด นี่เป็นเรื่องที่สะเทือนใจคนแก่พอสมควร สำหรับคนที่ทำงานนอกบ้านมาตลอดหลายสิบปี การอยู่บ้านในช่วงกลางวันในวันธรรมดาเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย มันเงียบ มันเหงา มันโล่ง จนดูวังเวง อ้างว้าง น่ากลัว ปกติหยุดอยู่บ้านวันหยุดก็ยังมีลูกหลานคนอื่นอยู่ด้วย เมื่อต้องมาอยู่คนเดียวมันเลยรู้สึกเปล่าเปลี่ยวขึ้นมา บวกกับเมื่อเห็นลูกหลานออกไปทำงาน ก็พาลให้รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ขึ้นมาได้เช่นกัน
- ซึมเศร้าจากความชรามาเยือน
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคือความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด แม้ว่าร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมและถดถอยมาเรื่อยๆ ไม่ได้พรวดเดียวแก่เลย แต่หลายคนไม่เคยสังเกตตัวเองมาก่อนจนกระทั่งเกษียณและได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น พอได้รับรู้อย่างจริงๆ จังๆ ว่าร่างกายของตนเองไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ความจำแย่ลง หูตึง มองอะไรก็ไม่ค่อยเห็น มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงและต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นความรู้สึกที่โทษตัวเอง เครียด หงุดหงิด รวมถึงซึมเศร้าจากความเสื่อมของสมองและระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม
- บทบาทความสำคัญลดลง
เป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ สืบเนื่องมาจากการที่เกษียณออกจากงานมานั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านโดยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบอะไร เคยทำงานเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้าน จากที่เคยช่วยเหลือตนเองได้ดีกลับต้องมาพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น เงินที่เคยหาใช้ได้เองก็ต้องรอจากลูกหลานแทน ทำให้รู้สึกว่าบทบาทความสำคัญของตัวเองลดลง ทำให้ผู้สูงอายุบางคนรู้สึกเคว้งคว้าง สิ้นหวัง จนคิดว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ แก่แล้วมีแต่เป็นภาระให้คนอื่น บางคนจึงรู้สึกรับตัวเองไม่ได้ ยิ่งถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นลบ คนในครอบครัวไม่สนใจ ไม่มีสังคม ก็อาจจะยิ่งแย่
- การพลัดพรากสูญเสีย
ยิ่งตัวเองอายุยืน ก็ยิ่งมีโอกาสได้เห็นคนรอบข้างทยอยจากไปทีละคน ตั้งแต่พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง คู่ชีวิต เพื่อนฝูง นอกจากนี้ผู้สูงอายุหลายคนยังต้องรับมือกับการที่เห็นลูกหลานของตัวเองจากไปก่อนวัยอันควรอีกต่างหาก เป็นความรู้สึกที่ว่าจริงๆ แล้วต้องเป็นฉันสิที่ควรจะได้ไปก่อน การพลัดพรากสูญเสียนี้ แม้หลายคนจะพยายามปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร ชินแล้ว แต่การที่ต้องรับรู้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักจากไปเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจได้ง่ายๆ เป็นความโดดเดี่ยวและน้อยอกน้อยใจคนที่จากไป ที่ทิ้งให้ตนเองต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง ทำให้ขาดที่พึ่งทางใจ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.