แค่ตรวจ “ชีพจร” ก็รู้ความเสี่ยงโรค “หัวใจและหลอดเลือด” ได้
เพียงวัดชีพจร 1 นาที ก็รู้ได้ว่าเราเสี่ยงโรคหัวใจมากแค่ไหน?
การวัดชีพจร ควรวัดตอนที่เรานั่งพักเฉยๆ สักระยะ หากเพิ่งทำกิจกรรมอื่นๆ ไป เช่น เพิ่งเดิน เพิ่งวิ่ง หรือทำงานหนักทำให้ใจเต้นหนักขึ้น ให้นั่งพักเฉยๆ 5-10 นาทีก่อนวัดชีพจร
วิธีตรวจชีพจรง่ายๆ เพียงวางนิ้วชี้ และนิ้วกลางลงบนข้อมือ กดเล็กน้อย จะรู้สึกถึงชีพจรที่เต้น จับเวลา 30 วินาทีหัวใจเต้นกี่ครั้ง แล้วนำตัวเลขมา x2 เพื่อให้ได้จำนวนหัวใจเต้นภายใน 1 นาที เพื่อความแม่นยำอาจลองนับ 2-3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ยได้
ในวัยผู้ใหญ่ ปกติแล้วชีพจรควรเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีสุขภาพดีจะหัวใจเต้นต่ำกว่า 90 ครั้งต่อนาที
ชีพจร บอกอะไร?
หากหัวใจเต้นเป็นปกติ สามารถบอกได้ว่าปัญหาความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด เช่น คอเลสเตอรอล และโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจอื่นๆ อยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ
ดร. เจสัน วาสฟี ผู้อำนวยการด้านคุณภาพ และการวิเคราะห์ของโรงพยาบาลหัวใจ Massachusetts General ในเครือมหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า “ในกรณีนี้ การเต้นชีพจรที่ต่ำกว่า หมายถึงความสมบูรณ์ของการทำงานของหัวใจที่ดีกว่า บ่งบอกได้ว่าระดับความเสี่ยงของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจวาย ต่ำลงด้วย ในทางตรงกันข้าม หากหัวใจเต้นเร็ว หมายถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า เพราะหากหัวใจเต้นเร็ว อาจเป็นเพราะหัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกาย”
แต่หากหัวใจเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที อาจหมายถึงความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติได้
เช็กชีพจรเรื่อยๆ
หากรู้สึกว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ สามารถเช็กชีพจรเรื่อยๆ 2-3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ในช่วงเวลาที่แตกต่างไป เช่น เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน
ก่อนวัดชีพจร ไม่ควร
- ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมหนัก เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นบันได หากเพิ่งทำกิจกรรมหนักๆ ไป ควรนั่งพักเฉยๆ 1-2 ชั่วโมงก่อนวัดชีพจร
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากดื่มไปแล้วควรหยุดดื่มราว 1 ชั่วโมงก่อนวัดชีพจร
- วัดชีพจรในตอนเช้าหลังตื่นนอน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
วิธีลดชีพจร หรือการเต้นของหัวใจ
หากหัวใจเต้นเร็วเกิน 100 ครั้งต่อนาที มีวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดได้ นั่นคือ ออกกำลังกายเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที แล้วอย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองอ่อนเพลีย
อนึ่ง ปัจจัยในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอีกมากมาย การตรวจชีพจรเป็นเพียงการตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้นแบบง่ายๆ หากรู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เมื่อทำกิจกรรมหนักๆ เช่น ออกกำลังกาย วิ่ง เดินขึ้นบันได ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.