กรดไหลย้อน ภัยจากความเครียด อันตรายถ้าไม่รักษา
โรคกรดไหลย้อน พบได้ทุกเพศ ทุกวัย มักมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอกหรือมีการเรอเปรี้ยว หรือมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย โรคนี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้เสียบุคลิกภาพ แต่หากไม่ทำการรักษาปล่อยไว้เรื้อรังอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารและเสียชีวิตได้ หากมีอาการกรดไหลย้อน ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาที่ไม่ถูกวิธีได้
นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า "โรคกรดไหลย้อน" คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอกหรือมีการเรอเปรี้ยว ตลอดจนอาการไอหรืออาการเจ็บหน้าอกในบางราย ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
กรณีอาการไม่รุนแรงหรือไม่กำเริบบ่อย โรคกรดไหลย้อน อาจเพียงสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากถูกละเลยจนกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะภาวะอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหารจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารส่วนปลาย (Barrett’s esophagus) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด
สาเหตุของกรดไหลย้อน
-
ความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งหูรูดของหลอดอาหารเริ่มเสื่อมสภาพ น้ำย่อยและอาหารในกระเพาะจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งมักถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการรับประทานยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
-
ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ส่งผลให้หลอดอาหารบีบตัวไล่น้ำย่อยที่ย้อนขึ้นมาได้น้อยลง ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานขึ้น
-
กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จนไม่สามารถนำอาหารที่ย่อยแล้วลงสู่ลำไส้ได้หมด อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารจนไปดันให้หูรูดเปิดออก อาหารและน้ำย่อยจึงย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร
-
ปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ
- บุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น รวมถึงกระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงทำให้น้ำย่อยและอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร
- ความเครียดยังส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป จนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ส่งผลให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัว โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเปปเปอร์มินต์
- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว รวมถึงอาหารรสจัด ทำให้หูรูดเกิดการระคายเคืองได้
- การรับประทานยาบางชนิด อาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน โดยผลข้างเคียงของยาจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง
- ความอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น
- การตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นความดันในกระเพาะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมีเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น
วิธีตรวจกรดไหลย้อนด้วยตัวเอง
การเช็กอาการของกรดไหลย้อนด้วยตัวเองสามารถทำได้ ดังนี้
- สังเกตอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจปวดร้าวไปยังลำคอ เหมือนมีก้อนจุกอยู่ กลืนลําบาก แสบคอ คลื่นไส้ เรอบ่อย และมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาจนรู้สึกขมที่คอ
- จุกเสียด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย อาจมีกลิ่นปาก หรือเสียวฟันร่วมด้วย
- หลังรับประทานอาหารมักเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรือไอแห้ง ๆ บ่อย ๆ
- เสียงแหบในช่วงเช้า หรือแหบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาทำให้กล่องเสียงอักเสบ
- สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกขณะนอนหลับ
วิธีรักษากรดไหลย้อน
- รับประทานยาลดกรด ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ซึ่งควรรับประทานตามแพทย์สั่ง โดยไม่ซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาที่ไม่ถูกวิธี
- ผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา
วิธีป้องกันกรดไหลย้อน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากเกินไป เช่น อาหารไขมันสูง และอาหารรสจัด งดเครื่องดื่มคาเฟอีนและ แอลกอฮอล์ รวมถึงเลิกสูบบุหรี่
- ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกาย
- ไม่นอนราบ ออกกำลังกาย หรือทำงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ โดยควรรอให้อาหารย่อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- ไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง
โรคกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์มักประสบกับภาวะกรดไหลย้อน โดยเฉพาะเมื่อครรภ์เข้าสู่ไตรมาสท้ายๆ เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะอาหาร จนกรด และอาหารในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร รวมถึงผลกระทบจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ ส่งให้ระบบย่อยอาหารทำงานลดลง
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการกรดไหลย้อนไม่ควรซื้อยาลดกรดมารับประทานเองเด็ดขาด เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือตัวคุณแม่เอง โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการและทำการรักษา
โรคกรดไหลย้อนอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้เสียบุคลิกภาพ แต่หากไม่ทำการรักษาปล่อยไว้เรื้อรังอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารและเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพอนามัยอยู่เสมอ พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อน รวมถึงปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อห่างไกลจากกรดไหลย้อนอย่างจริงจังและยั่งยืน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.