4 ท่านอนอันตราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพที่คนทั่วไปมักทำ

การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดและง่ายที่สุด เปรียบเหมือนช่วงเวลาทองที่ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง โดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ต้องการนอนหลับประมาณ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนการนอนหลับต่อการตื่นอยู่ ราว 1:4 เมื่อเราใช้เวลานอนหลับมากขนาดนี้ การเลือกท่าทางการนอนที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บของกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทต่างๆ ในร่างกายตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ต่อไปนี้เป็นท่านอนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยง

4 ท่านอนอันตรายส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ท่าที่ 1: ท่านอนกุม (Fetal position)

ท่านอนกุม คือการนอนโดยม้วนตัว โค้งศีรษะเข้าหาอก หลังโก่ง งอเข่า และสะโพกงอ จัดเป็นท่าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อหลายส่วนของร่างกาย การนอนท่านี้เป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ดังนี้

  • ปวดเข่า เนื่องจากพับหัวเข่าและสะโพกตลอดเวลา ทำให้เส้นเอ็นบริเวณหัวเข่าและสะโพกอักเสบ
  • ปวดหลัง การโก่งหลังเวลานอน ทำให้กล้ามเนื้อหลังยืดตึง ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบ ปวดหลังส่วนล่าง
  • กระดูกสันหลังผิดรูป การนอนก้มตัวเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง
  • ปวดคอ การก้มคอตลอดเวลานำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อตึง และเพิ่มแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังช่วงบน
  • ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเคลื่อน การนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ท่ากุม อาจกระตุ้นอาการปวดให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ท่าที่ 2: นอนคว่ำ

การนอนคว่ำ จัดเป็นท่าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากส่งผลต่อการหายใจ อาจทำให้หายใจติดขัด และทำให้กระดูกสันหลังคดโค้งผิดรูป นอกจากนี้ การนอนคว่ำมักต้องหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ยิ่งส่งผลต่อการคดโค้งของกระดูกสันหลัง ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ภาวะอักเสบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ และปวดหลัง

แม้ไม่แนะนำให้นอนคว่ำ แต่หากจำเป็นจริงๆ ควรนอนเป็นระยะเวลาสั้นๆ และควรสอดหมอนไว้ใต้หน้าอกหรือท้อง เพื่อเพิ่มความสบายขณะนอน

ท่าที่ 3: ท่าเอนกาย

ท่าเอนกายคือการนั่งพิง โดยลำตัวเอนไปด้านหลัง ใช้หมอนรองรับหลังส่วนล่าง ขณะก้นอยู่บนที่นอน โซฟา หรือเก้าอี้ มักนิยมเวลาดูโทรศัพท์ อ่านหนังสือ หรือดูทีวี ลักษณะท่านี้ต้องก้มหรือโน้มคอเป็นเวลานาน

การนั่งเอนกายเป็นประจำส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้

  • กระดูกสันหลังรับภาระหนัก การก้มคอเป็นเวลานาน ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระเพิ่ม ก่อให้เกิดอาการปวด และตึงบริเวณคอ ไหล่ และหลังส่วนล่าง
  • ปวดหลัง การแอ่นหลังเวลานั่งเอนกาย ทำให้หลังคดโค้งผิดรูป ส่งผลต่ออาการปวดหลัง

ท่าที่ 4: หนุนแขนทับเส้นประสาท

การเอาแขนท่อนบนรองศีรษะ ไม่ว่าจะโดยการหนุนนอน หรือการนั่งไขว่แขนแล้วเอาแขนอีกข้างรองศีรษะ กดทับบริเวณเส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve) ที่อยู่ด้านบนของแขน หากกดทับเป็นเวลานาน อาจทำให้เส้นประสาทได้รับความเสียหาย

อาการที่พบบ่อยที่สุดจากการกดทับเส้นประสาทเรเดียล คือ อาการหย่อนของข้อมือ ผู้ป่วยจะมีอาการยกมือข้างที่เส้นประสาทได้รับความเสียหายได้ยาก

อาการหย่อนของข้อมือ หรือที่เรียกว่า Saturday night palsy  หรือ Honeymoon palsy แม้ฟังดูรุนแรง แต่ส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง และหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ระยะเวลาการฟื้นฟูขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือ มือ และปลายแขน เพื่อป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง และข้อติดแข็ง

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.