ต้องรอด! อสังหาไทย...ไม่ตัน ? ใต้อุ้งมือ "นายกฯอุ๊งอิ๊ง"
"อสังหาริมทรัพย์ไทย" อยู่ในยุคมืดมนมานานแสนนาน ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่เฟื่องฟูทำมาค้าขึ้นเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 พร้อมกับมรสุมหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ยิ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องละเอียดรอบคอบและรัดกุมในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อผู้ขอกู้แบบเข้มข้น ด้วยไม่อยากแบกรับลูกหนี้ที่อาจเป็น NPL ในอนาคต คงมีเพียงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้และมีสภาพคล่องยามฉุกเฉินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในส่วนของหนี้บ้านและหนี้รายย่อย โดยผ่อนปรนอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ให้เกินเพดานที่กำหนด มีผลในเดือน ก.ย.67 และจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.67นี้
ความหวังในขณะนั้นคือการได้นายกฯผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเมื่อได้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ผู้ที่เชี่ยวกลำในแวดวงอสังหาอย่างยาวนาน ความหวังมาตรการกระตุ้นอสังหาฉายชัด แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มาตรการสำคัญจึงเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งคือสิ่งที่ถูกต้องที่ต้องทำก่อน แต่แล้วทีมรัฐบาลเศรษฐาก็ต้องจบลงตั้งแต่ 14 ส.ค.67 ทั้งๆที่เสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการอสังหาฯไทยยังไร้การตอบรับ
ในวันนี้ ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของตระกูลชินวัตร "อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร" จากการโหวตเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯวันที่ 18 ส.ค.67 ซึ่งไทม์ไลน์จากนี้คือการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่น่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ พร้อมถวายสัตย์ปฏิญาณตน จากนั้นจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐบาลภายใน 15 วัน ทุกอย่างจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือน ก.ย.67 หากอ้างอิงตามนายกคนที่ 30 ของไทย กระบวกการตั้งแต่ลงมติเลือกนายกฯ จนถึง ครม. นัดแรกเริ่มประชุมใช้ระยะเวลาราว 3 สัปดาห์
นโยบายที่รอคอย
ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยยืนด้วยลำแข้งตัวเอง "บริษัทไหนวางกลยุทธ์ดี เงินทุนแข็งแกร่ง มีของพร้อมขาย ก็สามารถผลักดันผลการดำเนินงานของตัวเองให้ดีเป็นที่ประจักษ์" ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการอสังหาฯรายไหนสายป่านไม่ยาวพอ การเงินอ่อนแอก็แพ้ไปตามเกม
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กต่างต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น ทั้ง ผ่อนคลายมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) เป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้ที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยเป็นสัญญาที่ 2 สามารถทำได้ รวมถึงขยายมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
พร้อมกับสถาบันการเงินพิจารณาเครดิตผู้กู้ จากที่ต้องรอถึง 6 เดือนจึงจะผ่านการกู้สินเชื่อใหม่ แต่ช่วยให้พิจารณาสินเชื่อใหม่ได้ทันที รวมถึงการเข้าถึงวงเงินซอฟต์โลนและลูกค้าผู้กู้ซื้อบ้านได้อัตราดอกเบี้ยตํ่าในช่วงแรกจากนั้นค่อยปรับขึ้นตามลำดับ
"ภาพอสังหาฯไทยหลังจากได้นายกฯคนใหม่ถือเป็นภาพที่ยังตอบได้ยาก เพราะรัฐบาลชุดเดิมเพิ่งออกมาตรการในเดือน เม.ย.67 ซึ่งก็คือการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% บ้านราคา 7 ล้านบาทซึ่งมาตรการจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งต้องรอดูอีกครั้งว่าในเดือน พ.ย.นี้จะมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการเดิมหรือไม่ ส่วนมาตรการใหม่ๆที่จะออกมาขึ้นอยู่กับตัวเลขที่จะเกิดขึ้นในแต่ละภาคส่วนเพราะเกี่ยวข้องกับแบงก์ชาติส่วนหนึ่งที่มีตัวแปรสําคัญ คือ การลดดอกเบี้ย และ มาตรการ LTV จะมีการผ่อนคลายหรือไม่ ซึ่งแบงก์ชาติต้องดูตัวเลขต่างๆอีกครั้ง
ส่วนภาครัฐมองว่ามาตรการเดิมที่เคยออกมากระตุ้นอสังหาฯ อาทิ ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งต้องรอความชัดเจนมาตรการต่อไป แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯคงจะเป็นเรื่องถัดไปที่จะออกมา เพราะสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อน คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ"
ถามว่า.. ภาคอสังหาฯจะกลับมามีเสน่ห์ช่วงไหน ?
นายสมนันท์ ผลสมบูรณ์โชค นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโส บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากมองความต้องการของกลุ่ม Real Demand ต้องยอมรับว่ากลุ่มอสังหาฯจะล้อไปกับภาพเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อไม่มี ดีมานด์ไม่ฟื้น แต่พอมีมาตรการคุม LTV ทำให้คนที่ต้องการกู้หรือมีความสามารถในกู้บ้านหลังที่สอง หรือ หลังที่สาม ไม่สามารถกู้ได้ไม่เต็ม 100% กำลังซื้อของคนเหล่านี้หายไป หากมีการผ่อนคลายมาตรการ LTV หรือ ลดหย่อนภาษีคาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อกลับมาได้ ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนนโยบายรัฐบาลอีกครั้ง
เปิดหุ้นอสังหาฯแกร่งสุด
ด้วยภาพใหญ่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่เอื้อ อาจต้องเลือกเป็นรายตัวมากกว่า ดังนั้นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสามารถในการขายโครงการในมือได้ ยอดโอนได้ แย่งมาร์เก็ตแชร์ได้ ถือเป็นคีย์หลักของกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งเป็นภาพตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 จะเห็นว่าบิ๊กเพลเยอร์ในอดีตยังไม่สามารถกลับมาครองตลาดได้ ด้วยตลาดเปลี่ยนไป แต่กลับมีผู้เล่นรายใหม่สามารถครองมาร์เก็ตแชร์
"วันนี้ถ้าดอกเบี้ยกลับทิศเป็นขาลง บวกผ่อนคลายมาตรการ LTV หรือ ลดหย่อนภาษี เป็นต้น น่าจะเป็นคีย์หลักที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาได้ โดยไม่ต้องรอให้ดีมานด์กลับมาดี หรือ หนี้ครัวเรือนลดลง แต่หากดูความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเทียบกับดาวน์ไซด์ของหุ้นกลุ่มอสังหาฯทุกวันนี้เทรดต่ำมาก พี/อีเพียง 4-5 เท่า ถือว่าปลอดภัยพอสมควรในหุ้นบางตัว บวกยิลด์สูงมากกว่า 7-8% ถือว่าคุ้มความเสี่ยง"
หุ้นอสังหาที่น่าสนใจ มี 2 บริษัทจดทะเบียนไทยที่ถือว่า "ครองมาร์เก็ตแชร์ได้ บวกกับรักษาระดับความสามารถการทำกำไรรายไตรมาสได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท"ได้เป็นอย่างดี คือ "บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP" ถือเป็นบริษัทที่ขายได้ โอนได้ สามารถรักษาระดับมาร์เก็ตแชร์ได้เป็นอย่างดีแม้ในช่วงที่ตลาดไม่ดีก็ตาม
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง AP มีคอนโดใหม่ที่มีราคาในโซน 7 ล้านบาทได้รับผลดีจากมาตรการลดโอนจำนองได้ โดยให้ราคาเป้าหมาย 11.80 บาท คาดจ่ายปันผลปีนี้ราว 0.65 บาทต่อหุ้น อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ราว 8% ถือเป็นหุ้นที่มีความเหวี่ยงน้อยกว่า ภาระหนี้ 0.8-0.9 เท่า ความเสี่ยงน้อย
แต่หากมองในปี 2568 ยกให้ "บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI" น่าสนใจ เพราะหากดูช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา งบทำนิวไฮ 2 ปีต่อเนื่อง บวกสตรอรี่บ้านระดับบนในโซนกรุงเทพกรีฑาถือว่าทำได้ดี ปิดการขายได้ไม่ถึง 3 ปีและยังมีโครงการออกมาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โปรเจคไฮไลท์ของ SIRI ในปีหน้า คือ บางนา กม.10 ใกล้ไบเทคบางนา เหมือนมีโครงการสําคัญ(Flagship Projects)ที่ขับเคลื่อนกำไรโตต่อเนื่อง ให้ราคาเป้าหมาย 2.20 บาท คาดการณ์จ่ายเงินปันผลปีนี้ราว 0.15 บาทต่อหุ้น Dividend Yield เกือบ 10% แม้จะ High Risk High Return แต่ถือว่ามีสตอรี่ที่ดีกว่าคู่แข่ง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.