เส้นทางนวัตกรรมการเงินกรุงไทย จากแอปเป๋าตัง สู่ เวอร์ชวล แบงก์
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พาเล่าย้อนความหลัง 10 ปี ก่อน ถึงพัฒนาการในการยกระดับธนาคารพาณิชย์ของรัฐให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ พร้อมกับ ไม่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่เคยใช้ โมบายล์ แบงก์กิ้ง จนทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว
ธนาคารดิจิทัล ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หากเรามองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรุงไทยพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ณ วันนี้ ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จในการเติบโต และสิ่งสำคัญที่สุดคือเราได้ปรับปรุงอัตราผลตอบแทน (ROI) ของเราให้ดีขึ้นมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและอยากจะเน้นย้ำ นอกจากการเติบโตเพื่อการแข่งขันแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือจำนวนสาขาของเรายังเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
สิ่งที่ผมอยากจะเน้นคือ การพัฒนาที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล นั้น แม้ว่าเราจะก้าวสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มตัว แต่เราก็ยังคงให้ความสำคัญกับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมเชื่อว่านโยบายที่เราเคยมีในอดีต เช่น การเปิดสาขาใหม่ในเมืองต้องควบคู่กับการเปิดสาขาในพื้นที่ห่างไกล เป็นหนึ่งในแนวทางที่สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันเราได้ปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น
ความท้าทายของเศรษฐกิจดิจิทัลคือบางกลุ่มของสังคมที่ยังไม่ค่อยได้รับการมองเห็น สิ่งนี้ชัดเจนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ธนาคารของเรามีสาขาและตู้เอทีเอ็มกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในต่างจังหวัดเรามีการวัดระยะรัศมีจากสาขาหรือตู้เอทีเอ็มให้ครอบคลุมประชากรในระยะ 5 ถึง 10 กิโลเมตร เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมได้ โดยไม่ถูกบังคับให้เข้าสู่บริการออนไลน์ทั้งหมดทันที
การที่เราเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐทำให้เรามีจิตสำนึกและจิตวิญญาณที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เรามีพันธกิจในการพัฒนาธนาคารไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม นี่คือเหตุผลที่เราต้องดำเนินการปรับปรุงและขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงทุกกลุ่มของลูกค้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
10 ปี แห่งพัฒนาการปฎิรูปกรุงไทย
ตั้งแต่ปี 2557 กรุงไทย มีการปฏิรูปองค์กร 3 เฟส เฟสแรกเป็นการปรับปรุงภายในองค์กร ให้องค์กรกระชับ โดยอยู่บนรากฐานของธรรมาภิบาลและการตรวจสอบที่เข้มงวด รวมถึงการปรับระบบการอนุมัติสินเชื่อที่เคยกระจายศูนย์ไปยังสาขาต่างๆ ให้มาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของเราดีขึ้น และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เฟสสอง เน้นการปิดช่องว่างระหว่างธนาคารกรุงไทยกับคู่แข่งของเรา ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่มีบริการโมบายแบงก์กิ้ง มีเพียงอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง เราจึงตัดสินใจสร้าง "กรุงไทยเน็กซ์" ขึ้นมา เพื่อให้เราไม่ล้าหลังคู่แข่งมากเกินไป เราศึกษาแนวคิดของโอเพ่นไฟแนนซ์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของเรา เราเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับการเป็นธนาคารของข้าราชการหรือต่างจังหวัดเพียงอย่างเดียว
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงไทย
ขณะที่ เฟสที่สามของการปฏิรูป เราเน้นการพัฒนาดิจิทัลทาเลนท์ และนวัตกรรมภายในองค์กร เราได้สร้างโฮมเมดอินโนเวชั่น โดยเน้นการใช้งานคลาวด์เป็นหลัก และได้สร้างหน่วยงานที่เน้น 4 แกนหลัก ได้แก่ ดาต้าอินโนเวชั่น ไอทีอินโนเวชั่น บิซิเนสอินโนเวชั่น และอินเทอร์นอลดิจิไทเซชั่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
ความท้าทายหลักของเฟสนี้คือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ เราพยายามสร้างทีมงานที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เราได้สร้างหน่วยงานใหม่ เช่น อินฟินิทัส ซึ่งช่วยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แต่ก็พบว่าการขยายขนาดขององค์กรยังคงมีความฝืดอยู่บ้าง เนื่องจากโครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์กรยังไม่ยืดหยุ่นพอ
ยกระดับนวัตกรรมสู่บริการประชาชน
กรุงไทย ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย เช่น อเซนเจอร์ (Accenture) และไอบีเอ็ม (IBM) เพื่อช่วยเราในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั่วโลกเข้ามาใช้ในองค์กร การร่วมมือกับพันธมิตรเหล่านี้เป็นการยกระดับการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมของเรา เพื่อให้เราสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ผยง มองว่า กรุงไทยมีความพร้อมในการเดินไปข้างหน้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราพัฒนา เรามีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง เช่น กรุงไทยเน็กซ์, เป๋าตัง และถุงเงิน รวมถึงกรุงไทยบิสิเนส สำหรับภาคธุรกิจ สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ การเพิ่มความลึกของปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ยกระดับการบูรณาการ และพัฒนาการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ลูกค้าเรา 40 ล้านคน วันนี้เรามีลูกค้าที่ไม่อยู่ในช่องทางดิจิทัลเหลือเพียง 7 ล้านคน ซึ่งเรายังพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุยังต้องการบริการแบบดั้งเดิม นี่คือความท้าทายในการขับเคลื่อนบริการออฟไลน์สู่ออนไลน์ ที่เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และปรับปรุงให้ตรงจุด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.