ผู้ว่าฯ ธปท.เตือนผ่านสื่อนอก ปรับกรอบเงินเฟ้อดันราคาพุ่ง ทำเศรษฐกิจเสี่ยง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ และมีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยความเสี่ยงของการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากช่วง 1%-3% ในเวลานี้ก็คือ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้น
เศรษฐพุฒิ เน้นย้ำถึงความยากลำบากของธนาคารกลางไทยที่เผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาล สถานการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่อนโยบายการเงินของ ธปท. ท่ามกลางการเมืองที่ไม่แน่นอน ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กองทุนต่างชาติทยอยขายหุ้น และพันธบัตรไทยออกไปมูลค่าราว 3.9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 แสนล้านบาทในปีนี้
โดยความเห็นนี้เกิดขึ้นก่อนการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกำหนดการประชุมในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายนนี้
ก่อนหน้านี้นาย “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอมุมมองเกี่ยวกับการทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้เหตุผลหลักว่า ไทยเผชิญกับภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบ ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2567
นักวิเคราะห์ในไทยมองว่าข้อเสนอนี้เป็นกลยุทธ์เพื่อกดดันให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น ทัมมารา เฮนเดอร์สัน จาก Bloomberg Economics มองว่ากลยุทธ์นี้ “ไร้ประโยชน์” และอาจทำให้ความพยายามในการจัดการดูแลเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยุ่งยากขึ้นไปอีก
รัฐบาลกดดันแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ย
หลังจากที่ดัชนีเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567
แบงก์ชาติ ยังได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องจากรัฐบาลในการลดอัตราดอกเบี้ย โดยแย้งว่าการปฏิรูปโครงสร้างไม่ใช่วิธีที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมถูกลงคือ สิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน
อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าเหมาะสมที่จะช่วยนำเศรษฐกิจของเราไปสู่ศักยภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็พร้อมที่จะปรับตัว เราไม่ได้ยึดติดกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน และมันก็ไม่ใช่มุมมองที่ตายตัว
‘หนี้ครัวเรือน’โรคเรื้อรังกัดกินประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์ “ค่าเงินบาท” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียในปีนี้ รองจากเยนญี่ปุ่น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพียงว่า ธปท.สามารถรับมือการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้มากขึ้นกว่าเดิม
ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุด้วยว่า ตอนนี้แบงก์ชาติต้องพยายามรักษาสมดุลอย่างระมัดระวัง ทั้งความพยายามในการช่วยให้วิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ของไทย ซึ่งกำลังประสบปัญหา สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ระดับหนี้สินพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงระดับหนี้สินที่สูงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หนี้ครัวเรือน” ที่เป็นปัญหาใหญ่และยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็วๆ นี้ และเปรียบเทียบปัญหานี้ว่า
มันเหมือนกับโรคเรื้อรังมากกว่าโรคเฉียบพลัน อาจไม่ถึงกับนำไปสู่วิกฤติ แต่ก็จะยืดเยื้อไปอีกนาน และแก้ไขได้ยาก
ความท้าทายภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ 'เศรษฐา'
มุมมองของเศรษฐพุฒิ สะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางแรงกดดันจากหลายภาคส่วนภายใต้รัฐบาลของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการเห็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลายเป็นแรงกดดันต่อแบงก์ชาติ ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ย และย้ำถึงความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งนโยบายการเงินอิสระของธนาคารกลาง โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีระบบนโยบายการเงินอิสระกับธนาคารกลางมักมีผลลัพธ์ด้านเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงินที่ดีกว่า
“ผลงานย่อมพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง” โดยอ้างอิงถึงผลงานของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
วาระการดำรงตำแหน่งของเศรษฐพุฒิในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2568 แต่เศรษฐพุฒิเผยว่าจะไม่ขอรับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งต่ออีกสมัยในปีหน้า
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1132017
อ้างอิง Bloomberg
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.