กสทช.เร่งหารือกรมศุลกากร รับมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ Starlink โทรลวงประชาชน

จากกรณีที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีการตรวจยึดของกลาง อุปกรณ์ รับ-ส่ง สัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ  (Low Earth Orbit — LEO) ของ Starlink จากมิจฉาชีพ ในการนำมาเป็นอุปกรณ์ชุดสื่อสารเพื่อเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียม LEO  ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 58 ชุด

ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าว สามารถตรวจยึดได้จากร้านรับ-ส่งพัสดุ ใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยระบุที่อยู่ปลายทาง ใน อ.แม่สอด และอ.แม่ระมาด จ.ตาก จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ต้องการส่งออกไปยังชายแดนประเทศไทย จากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาไปยังชายแดนประเทศเมียนมาร์ เพื่อเตรียมนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ โดยรมว.ดีอี ต้องเดินหน้าหารือกับกสทช.ต่อไป ว่าจะยกระดับการป้องกันอย่างไรบ้าง กับวิธีการสื่อสารแบบใหม่ของมิจฉาชีพเหล่านี้

ล่าสุดนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ต้องมีการหารือและทำงานร่วมกับกรมศุลกากร ในการดูแลอุปกรณ์นำเข้าผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากดาวเทียม LEO ของ Starlink ไม่ได้เข้ามาขออนุญาตใช้สถานีรับสัญญาณดาวเทียม หรือ สถานีเกตเวย์ ในประเทศไทย เพราะไม่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนในประเทศตามกฎหมาย แต่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศเอง 100 % ทำให้  Starlink ไม่สามารถประกอบกิจการในประเทศไทยได้ ดังนั้นจึงใช้ประเทศอื่นในอาเซียนเป็นสถานีเกตเวย์

ทว่า บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม LEO นั้น สามารถให้บริการครอบคลุมได้หลายประเทศ แม้ในประเทศนั้นๆจะไม่มีสถานีเกตเวย์ เพียงมีจานดาวเทียมในการรับสัญญาณ ประชาชน ก็สามารถใช้บริการได้ โดยสมัครแพ็กเกจผ่านเว็บไซต์ ทำให้มิจฉาชีพเห็นช่องทางดังกล่าว ในการใช้สื่อสารหลอกลวง แทนการใช้ระบบสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง กสทช.ได้ดำเนินการปราบปรามสถานีเถื่อนอย่างต่อเนื่อง 

ด้านพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.อธิบายเพิ่มเติมว่า กสทช.ได้อนุมัติโครงการทดลองทดสอบกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการนำดาวเทียม Starlink เพื่อ 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยการศึกษา และการแพทย์สำหรับผู้ด้อยโอกาส โดยรับทราบมาว่า Starlink มีสถานีเกตเวย์ อยู่ที่ ฟิลิปปินส์ เบื้องต้นคงต้องดูก่อนว่า สัญญาณดาวเทียมสามารถล้นออกมาจากโครงการหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าทางเทคนิคแล้วน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที  กล่าวว่า  การทำงานของเครื่องนี้ มีการใช้อุปกรณ์ รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยตรงจากดาวเทียม Starlink  ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาต จาก กสทช.  และไม่มีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทย โดยราคาอุปกรณ์อยู่ที่ ประมาณ 20,000-50,000 บาท สำหรับการใช้งาน ประชาชนต้องซื้อแพ็กเกจเป็นรายเดือน ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้มีผู้ให้บริการหลายเจ้า โดยในประเทศไทยมีเพียงวันเว็บที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่ยังไม่ได้ให้บริการแต่อย่างใด

สำหรับการตรวจจับสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียมวงโคจรต่ำว่านำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตรวจจับได้ยาก เมื่อเทียบกับการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงจำเป็นต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทย จึงจะสามารถตรวจจับได้ หากตรวจสอบพบว่านำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายก็สามารถตัดสัญญาณจากสถานีเกตเวย์ได้ทันที จึงเป็นที่มาของกฎหมายที่กสทช.กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำในไทย ต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทยด้วย เพื่อควบคุมดูแลได้ 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่า ราคาแพ็กเกจบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโครจรต่ำ ของต่างประเทศมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าอุปกรณ์ หากมีอุปกรณ์จานรับสัญญาณก็สามารถสมัครแพ็กเกจและชำระเงินผ่านเว็บไซต์ได้ทันที หลังจากนั้นจะได้รับรหัสสำหรับล็อกอินเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.