สูตรสำเร็จในธุรกิจบริหารสินทรัพย์-เร่งรัดหนี้แบบฉบับ CHAYO

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC มีผู้เล่นในตลาดหลายราย ทั้งรายที่ถนัดเฉพาะบริหารหนี้ที่มีหลักประกัน และรายที่ถนัดเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน แต่ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO มีความพิเศษตรงที่เป็นบริษัทเดียวที่สามารถบริหารได้ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน   

“สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เล่าให้ฟังถึงเส้นทางสู่ความสำเร็จ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเป็น CHAYO ในทุกวันนี้ว่า บริษัทมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ตั้งแต่ปี 2540 ที่เกิดวิกฤต บริษัทตั้งสำนักงานกฎหมาย จากนั้นเริ่มซื้อหนี้เข้ามาต่อเนื่อง 

จนกระทั่งปี 2557 ได้ซื้อหนี้เข้ามาค่อนข้างมาก รวม 19,000 ล้านบาท และในปี 2558-2559 บริษัทสนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากธุรกิจของ CHAYO ในขณะนั้นต้องใช้เงินทุน จึงได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2560 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และในปี 2561 ได้รับอนุมัติให้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ธุรกิจเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน 2.ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ ให้กับธนาคาร และบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม 3.ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และ 4.ธุรกิจจัดหาบุคลากรให้กับบริษัทต่างๆ ซึ่งธุรกิจโดยรวมเติบโตต่อเนื่อง ปีละ 30-40% 

สำหรับแนวคิดในการบริหารงาน เนื่องจากธุรกิจนี้มีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นดาต้าในการดูแลคน พวก PDPA และข้อกฎหมาย จึงมีความสำคัญ ดังนั้น ต้องบริหารดาต้า ข้อมูลลูกค้า ข้อกฎหมาย ระบบกระบวนการ และความซื่อสัตย์สุจริต

โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งในตอนเช้าบริษัทจะมีการสวดมนต์ก่อนทำงานเพื่อปรับจิตใจพนักงาน จากนั้นก่อนเที่ยง ประมาณ 10-15 นาที บริษัทจะเปิดเสียงตามสาย เป็นการดึงดาต้าที่ลูกค้าพูดคุยกับบริษัท หรือบริษัทโทรไปหาลูกค้าว่าพนักงานพูดคุยถูกต้องตามกระบวนการ มีการเรียกรับผลประโยชน์ หรือลูกค้าเสนอผลประโยชน์ให้กับบริษัทหรือไม่ 

ดังนั้นการเปิดเสียงตามสายจะเป็นการเช็คว่าบริษัทไม่มีการคอร์รัปชั่น รวมถึงเช็คว่าพนักงานพูดครบถ้วนถูกต้องตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และถูกกฎหมาย พ.ร.บ.ทวงถามหนี้

ทางด้านภาพรวมหนี้ในตลาดปี 2567 มองว่าภาพรวมหนี้เสียเกิดขึ้นปีละประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท โดยหนี้เสียจำนวนมาก เป็นหนี้เสียประเภทรถ, บ้าน, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่ง 4 ส่วนนี้ เป็นส่วนที่ CHAYO เล่นตลาดนี้อยู่  

ขณะที่ในไตรมาส 1/2567 หนี้เสียบัตรเครดิตพุ่ง 1 ล้านบัตรนั้น ถือว่าเยอะมาก เกิดจาก 1.ธปท. กำหนดให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเก็บอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตขึ้นมาเป็น 8% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน จากช่วง COVID-19 ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 5% ในปี 2563-2566 จาก 10% และ 2.อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น 

“หนี้เสียปีนี้ น่าจะเห็นที่ระดับกว่า 3% ของยอดปล่อยสินเชื่อ โดยถ้าปล่อยสินเชื่อ 18 ล้านล้านบาท หนี้เสีย 3% ก็เกือบ 600,000 ล้านบาท”    

เพราะฉะนั้นถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็จะเป็นอันตราย โดยวิธีการบริหารจัดการที่ดี คือ 1.ใช้จ่ายหลังจากวันเรียกเก็บ เช่น เรียกเก็บวันที่ 25 ของเดือน ให้ใช้ในวันที่ 26 ทำให้มีเวลาอีกกว่า 1 เดือน ในการจ่ายหนี้ในรอบถัดไป 

2.ห้ามกดเงินสด เพราะคิดอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่กดเงินสดทันที ในอัตราดอกเบี้ยสูง 15-20% และ 3.กรณีมีหนี้บัตรเครดิต แนะนำให้เจรจากับบริษัทเจ้าหนี้ และปัจจุบันมีคลินิกแก้หนี้ที่ ธปท. และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ทำอยู่ จะมีหนี้ทุกรายการที่ลูกค้ามีอยู่ สามารถเข้าไปเจรจาปรับโครงสร้างเพื่อปลดหนี้ได้ รวมทั้ง CHAYO ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคลินิกแก้หนี้ แต่จะไม่มีหนี้ทุกรายการที่ลูกค้ามีอยู่

ส่วนภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายของ CHAYO ในปี 2567 นั้น จากภาพรวมหนี้เสียในปีนี้ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสของ CHAYO ที่จะซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้เพิ่มขึ้น ด้วยงบประมาณเท่าเดิม 

อย่างไรก็ตาม ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ายังลดลง ยังไม่สามารถชำระหนี้ครั้งเดียวได้ CHAYO จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า และหนี้ที่ซื้อมาเกือบ 100% เราไม่ได้คิดดอกเบี้ยลูกค้าต่อ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีอยู่เราก็ลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าด้วย

“เป็นโอกาสดี ที่ถ้ามาอยู่กับ CHAYO แล้ว ปรับโครงสร้างหนี้ช่วงแรกอาจจะปรับโครงสร้างแบบบอลลูน ผ่อนน้อยไปก่อนแล้วค่อยผ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อยุติหนี้ให้ได้” 

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารไว้ที่ 1,000-1,500 ล้านบาท เป้าหมายซื้อหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน มูลหนี้รวม 10,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมูลหนี้คงค้างในพอร์ตอยู่ที่ 105,000 ล้านบาท จากที่มีเกือบ 120,000 ล้านบาท แต่บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างหนี้และให้ลูกค้าจ่ายชำระหนี้และปลดหนี้ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท 

ในปี 2567 บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน แม้ในไตรมาส 1/2567 เติบโตไม่ดี เนื่องจากบริษัทตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น เพื่อให้ไตรมาส 2-4/2567 มี ECL น้อยลง กำไรก็จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับพอร์ตบางพอร์ตได้ถูกตัดออกไปและไม่มีต้นทุนอยู่แล้ว 

ในส่วนของธุรกิจติดตามทวงหนี้ก็เติบโตได้ และมีการซื้อหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาทำด้วย ขณะเดียวกัน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อในปีนี้ก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจจัดหาบุคลากรให้กับบริษัทต่างๆ มีรายได้และกำไรตามสมควร แม้ไม่ได้เยอะมากแต่สามารถต่อยอดในการปล่อยสินเชื่อให้กับ CHAYO

ขณะที่ New S-curve ที่จะทำให้ CHAYO เติบโตอย่างยั่งยืน คือ สินเชื่อ ภายใต้ บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด และการจัดตั้ง AMC ร่วมกับสถาบันการเงิน (JV AMC) เชื่อว่ายังมีโอกาสเกิดขึ้นภายในปีนึ้ แต่ต้องรอว่าสถาบันการเงินจะตัดสินใจอย่างไร โดยการจัดตั้งจะต้อง WIN ทั้งคู่ โดยส่งหนี้ที่มีหลักประกันหรือไม่มีหลักประกันมาให้ CHAYO เพราะ CHAYO เป็นที่เดียวที่ทำได้ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 

“CHAYO มีคน 250 คน มีเครื่องมือ และมี outsource ทั่วประเทศ ฉะนั้นเราสามารถ JV กับธนาคารหรือสถาบันใดๆ ก็ได้ ทำให้ลูกค้าเกิดประโยชน์และปลดภาระหนี้ได้ในอนาคต ส่วนธนาคารเองก็ลด NPL ลง ซึ่งเราก็มีการคุยใกล้ชิดกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพานิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เพราะ BAM ทำในส่วนของหนี้มีหลักประกัน ขณะที่ CHAYO เข้าไปช่วยในส่วนของหนี้ไม่มีหลักประกันได้”

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนในการนำ AI เข้ามาใช้เสริมแกร่งธุรกิจ โดย CHAYO จับมือกับ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA และ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG ซึ่ง YGG เก่งด้าน AI มาก ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ CHAYO จะนำ AI มาช่วยในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้มาแล้วเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป และนำ AI มาใช้ในการช่วยปลดภาระหนี้ให้ลูกค้าเร็วขึ้น

ลิงก์เฟซบุ๊ก
https://www.facebook.com/share/v/wT6bVwNkkBsSL81W/?mibextid=QwDbR1

ลิงก์ยูทูป
https://youtu.be/3ERYq_GqwoI?si=BjjWzhDzrytfuEnp

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.