NEO เคาะราคาไอพีโอ 39 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 28-29 มี.ค. และ 1-2 เม.ย.นี้

นายทวีชัย ตั้งธนทรัพย์ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 39 บาท/หุ้น ซึ่งนักลงทุนสถาบันในประเทศได้แสดงความสนใจจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรถึง 5 เท่า สะท้อนถึงความสนใจและมั่นใจในศักยภาพของธุรกิจ 

โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่  28-29 มี.ค. และ 1-2 เม.ย. 2567 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 9 เม.ย.นี้ โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “NEO” 

ทั้งนี้ NEO ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 6 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ NEO ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (2) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (3) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (4) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (5) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และ (6) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด

สำหรับ NEO มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 222 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 87.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายกำลังการผลิตของสินค้ากลุ่มของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ขยายคลังวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์เพื่อให้รองรับกับการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ส่วนที่เหลือใช้ชำระคืนเงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท 

“การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ NEO ที่ราคา 39 บาท/หุ้น พิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันอย่างมาก โดยราคาดังกล่าวนอกจากจะมีความต้องการส่วนเกินแล้ว ยังถือว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานมั่นคง เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ประกอบกับศักยภาพของโรงงานที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลให้ NEO มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายทวีชัย กล่าว

นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEO กล่าวว่า ได้วางแผนขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค” โดยบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าอุปโภคมากว่า 34 ปี เป็นผู้ทำการตลาด ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพของคนไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่นเทียบเท่าระดับสากล 

โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสเติบโตใหม่ผ่านการขยายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) กลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ให้กับทุกคน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

ปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าอุปโภคครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) อาทิ แบรนด์ไฟน์ไลน์ (Fineline) แบรนด์สมาร์ท (Smart) และแบรนด์โทมิ (Tomi) 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) อาทิ แบรนด์บีไนซ์ (BeNice) แบรนด์ทรอส (TROS) แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) และแบรนด์วีไวต์ (Vivite) 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) ภายใต้แบรนด์ดีนี่ (D-nee) 

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตและยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ตลอดจนการขยายคลังวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่มีความทันสมัย เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลชีวิตประจำวันของทุกคนให้ได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น เพื่อยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น (Uplift The Essentials for Everyday Betterment) และยังยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ” นายสุทธิเดช กล่าว 

นางปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ NEO กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมเมืองและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ที่ให้ความสนใจด้านสุขอนามัยมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทวางกลยุทธ์ที่จะเป็นบริษัท FMCG (Fast Moving Consumer Goods) แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1) กลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มความนิยมของผลิตภัณฑ์และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทนำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมุ่งขยายสินค้าในพอร์ตโฟลิโอไปยังระดับพรีเมียมแมสและพรีเมียม ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้ใกล้กับผู้นำตลาด

2) กลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง (Supply Chain Optimization) โดยการมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และการลงทุนในระบบบริหารจัดการการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปคลังสินค้าอัตโนมัติ  

3) การให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรปลูกฝังความรู้ให้กับบุคลากร สนับสนุนกิจกรรมชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainability Brand) 

“NEO ได้นำความรู้และการวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการมุ่งขยายตลาด Silver Market หรือกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 55 ปีขึ้นไป รองรับตลาดที่กำลังเติบโต รวมถึงการขยายผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน” นางปัทมา กล่าว 

นางนาฏยา ทัศนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน NEO กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผลักดันให้ NEO มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง นับตั้งแต่ปี 2563-2566 ยอดขายมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 11.9% ต่อปี และกำไรสุทธิขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) 11.7% ต่อปี 

โดยปี 2563-2566 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 6,768 ล้านบาท 7,445 ล้านบาท 8,301 ล้านบาท และ 9,484 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 602 ล้านบาท 729 ล้านบาท 569 ล้านบาท และ 840 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% 25% และ 35% ของรายได้จากการขายรวมของบริษัท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ รายได้จากการขายของบริษัทมาจากการขายสินค้าในประเทศและจากการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% และ 15% ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ โดยประเทศส่งออกหลักที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา ฯลฯ 

ขณะเดียวกัน เพื่อรองรับกับการเติบโต NEO วางแผนการลงทุน 4 ปี (2567-2570) จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 234,782 ตัน/ปี และคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปมีความสามารถในการจัดเก็บรวมกว่า 45,700 พาเลท โดยเป็นโครงการที่ลงทุนภายใต้งบประมาณ ราว 6,530 ล้านบาท ดังนี้  

1.โครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนสำหรับเด็ก ในระหว่างปี 2567-2570 เพิ่มกำลังการผลิตรวมอีก 163,200 ตัน/ปี      

2.โครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ซึ่งรวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลสำหรับเด็ก ในระหว่างปี 2567-2570 เพิ่มกำลังการผลิตรวมอีก 18,100 ตัน/ปี  

3.โครงการขยายคลังวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ และระบบบริหารจัดการคลังสินค้า เพิ่มเป็น 29,620 พาเลท ในปี 2570 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.