ดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอีไตมาส4/66พุ่ง ลอยกระทง-ปีใหม่หนุนใช้จ่าย

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว. และศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ประจำไตรมาส 4/2566 และคาดการณ์อนาคต จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 67.81 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลลอยกระทง และเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล 

 

ขณะที่แนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 67.61 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่อยู่ระดับ 66.79 เนื่องจากยังได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มเดินทางมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ กิจการสามารถกลับมาเปิดบริการได้เต็มที่ รวมถึงมีความคาดหวังต่อมาตรการของรัฐบาลเพื่อผลักดันการเติบโตของภาคธุรกิจ
 

 

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมในปัจจุบันเทียบกับ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคบริการมีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น อยู่ที่ระดับ 72.30 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เช่น ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นต้น และเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านที่สำคัญ พบว่า ผลประกอบการ สภาพคล่องของธุรกิจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุน หรือจ้างงานเพิ่ม และมีความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 

 

ขณะที่ความคิดเห็นต่อโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 85% มองว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์  โดย 30% คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก มีเพียง 15% เท่านั้นที่คาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุปโภคและบริโภคโดยตรง และเมื่อเทียบกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในอดีต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มองว่า โครงการเงินดิจิทัลเป็นมาตรการที่สร้างผลดีต่อธุรกิจได้ดีเป็นอันดับ 2 รองจากโครงการเราชนะ เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่บนระบบใหม่ และมีเงื่อนไขซับซ้อนกว่าโครงการในอดีต จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาและการปรับตัว

 

“จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้น จากแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง ส่งผลเกิดการจับจ่ายใช้สอยขยายตัว” นางสาวนารถนารี กล่าว

 

อย่างไรก็ดี เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนธุรกิจสูงที่เป็นความกังวลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนการลงทุนเพิ่ม SME D Bank ได้เตรียมบริการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ คงที่เริ่มต้น 2.99% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับบริการด้านงานพัฒนา จากโครงการ SME D Coach  ให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คว้าโอกาสทองจากกำลังซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.