บีโอไอ เสนอมาตรการดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) จัดงานสัมมนา “Thailand – Japan Investment Forum” เพื่อนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาสัมพันธ์โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนสำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมกว่า 500 รายที่ประเทศญี่ปุ่น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางด้านการทูต ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสภายใต้การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หรือ Comprehensive Strategic Partnership โดยไทยและญี่ปุ่นมีนโยบายที่สอดคล้องในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวและการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะเอื้อต่อการขยายความร่วมมือระหว่างกัน  

นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นได้มีการลงนามความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP และได้ลงนามกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย – ญี่ปุ่น ภายใต้ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement หรือ JTEPA ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 6,000 บริษัท และมีชาวญี่ปุ่นพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 80,000 คน โดยที่ผ่านมาการลงทุนจากญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่น 

ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นเลือกประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหลัก และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รัฐบาลไทยพร้อมจะสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นให้เติบโต และสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นจะสร้างความร่วมมือในด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยพร้อมมีบทบาทเชิงรุกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้น เพื่อเดินหน้าในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยจะใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศหรือข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี ในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมิตรประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ไทยจะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใหม่ใน 4 ภาคของประเทศไทย รวมทั้งการออก Long-term Resident Visa หรือ LTR Visa เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทย 

รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงดังกรอบแนวคิดของญี่ปุ่นเรื่องความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันที่เรียกว่า การร่วมสร้างสรรค์ หรือ Co-Creation เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

นายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

หลังจากนี้ญี่ปุ่นและไทยจะร่วมมือเพื่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้ประกาศยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ซึ่งในอนาคตการลงทุนในเรื่องนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อม และญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวต่อไป 


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ได้นำเสนอนโยบายใหม่ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพอันจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยและให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจในระดับภูมิภาค ได้แก่

Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG 
ยานยนต์สมัยใหม่ 
อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 
ดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
และการส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคและศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) สู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

“เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปภายใน Hybrid และ Plug-in Hybrid เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขสำคัญในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการดังกล่าว คือ ต้องมีการลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการผลิตรถยนต์ และต้องเสนอแผนการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เพิ่มความปลอดภัย พัฒนาการขับเคลื่อนอัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีอื่นๆที่เหมาะสม” 

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดติดต่อกันมายาวนาน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการจากญี่ปุ่นได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มากกว่า 4,000 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 6 ล้านล้านเยน และในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) ปี 2566 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 176 โครงการ มูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18%

นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า จากการศึกษาของ JETRO พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณไม่สูงมาก และมีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม 

ซึ่ง JETRO ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงความพร้อมและโอกาสในการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดของไทย และในอนาคตจะมีการจัดตั้ง“Sustainable Dedicated Desk ที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.