สนพ.กางยอดใช้พลังงาน 9 เดือนปีนี้เพิ่มขึ้น 2.2%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ของ สศช. ขยายตัวร้อยละ 1.5 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ลดลง และการใช้จ่ายของภาครัฐบาลลดลง เป็นผลมาจากการลดลงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขหลังการฟื้นตัวของโรคโควิด-19 ขณะที่การบริการขยายตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอุปโภคบริโภคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนเร่งขึ้น ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 นั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (เดือนมกราคม – กันยายน 2566)  พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ 2,039 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ร้อยละ 9.4 รองลงมาคือ การใช้น้ำมันที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 9.8 การใช้ถ่านหินลดลง ร้อยละ 10.3 และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าลดลงที่ร้อยละ 11.7 ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนของปี 2566 สรุปได้ดังนี้
 

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ระดับ 139 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 30 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ตามจากการที่น้ำมันกลุ่มเบนซินมีราคาสูงทำให้มีการใช้สัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล95 สูงสุดที่ร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล91 และเบนซิน95 ที่ร้อยละ 22 และ 2 ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 62 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงที่ร้อยละ 4.5 ผลจากราคาน้ำมันที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า อีกทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวทำให้การใช้น้ำมันในภาคขนส่งมีความต้องการลดลงไปด้วย  ด้านการใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ระดับ 13.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.1 เป็นผลมาจากจากสถานการณ์การเดินทางภายในและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้านน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 5.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 11.4 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG โพรเพน และบิวเทน) อยู่ที่ระดับ 18.5 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 45 มีการใช้ลดลงร้อยละ 2.2 รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 31 มีการใช้ลดลงร้อยละ 0.8 ภาคขนส่งมีสัดส่วนร้อยละ 13 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.4

ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) อยู่ที่ระดับ 4,478 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 11.1 ในขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 1.9 การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.4 และใช้ในโรงแยกก๊าซฯ ลดลงร้อยละ 1.4

ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ อยู่ที่ระดับ 11,482 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 10.2 โดยการใช้ถ่านหิน ลดลงร้อยละ 10.3 จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและการใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 9.3 และ 11.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงร้อยละ 7.5 ส่วนการใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 9.8  ทั้งนี้ ร้อยละ 99 ของการใช้ลิกไนต์เป็นการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลือร้อยละ 1 นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.