กรมที่ดิน ยันไม่เพิกถอนสิทธิเขากระโดง ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดงนั้น 

กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา 

โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมาย) ได้มีคำสั่งที่ 1195 -1196 /2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว โดยที่ศาลปกครองกลางมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์บริเวณเขากระโดงแต่อย่างใด

 

ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 1 การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ 2 ซึ่งประกอบด้วย

(1) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด สาขาหรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจจราชการกรมที่ดินเห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ
(2) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(3) ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เป็นกรรมการ
(4) ผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ
(5) ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไปหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ

ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจึงเป็นการตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

ประเด็นการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 1 การตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการสอบสวน ข้อ 3 และ ข้อ 4 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ ความว่า

ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีการนัดสอบสวน การนัดพิจารณาหรือการอย่างอื่นพร้อมทั้งต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเป็นหนังสือด้วย และมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ยึดถือมาประการพิจารณาพร้อมทั้งแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน 

เมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย โดยจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

อีกทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการ  จดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 ข้อ 7


การรถไฟอ้างแผนที่คนละฉบับทำให้ต้องยุติเรื่อง

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 หมวด 3 การสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข ข้อ 12 ได้บัญญัติเงื่อนไขของการที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีบดีมอบหมายจะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ต่อเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า

แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 -876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช2464 

ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2497, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2529 และ พ.ศ.2557 ปรากฏว่า

ทางรถไฟมีระยะทางประมาณ6.2กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK)  สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. 2495-2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ

จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ

จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา

สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3

แจงปมไม่ร่วมตรวจสอบการรถไฟหวั่นสูญเสียความเป็นกลาง

คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่า ไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้

รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ20วา หรือ40 เมตร โดยการรถไฟฯ จะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์

ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553

อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป 

มติคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ขัดแย้งศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์

ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี และนำเสนอพยานหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีไปแสดงต่อศาลได้ สำหรับรูปแผนที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) อ้างสิทธินั้น

จากการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 และปีพ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว โดยการรถไฟฯ ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งแผนที่นี้ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ แต่อย่างใด

ประกอบกับการดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่ประการใด


คลิ๊กอ่านที่มา กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.