ก้าวไกลย้ำยื่นญัตติทบทวนเสนอชื่อนายกฯโหวตซ้ำทุกพรรคได้ประโยชน์

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินฯปมเสนอชื่อนายกฯซ้ำ ว่า จากคำวินิจฉัยของศาลที่ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 213 ว่าการกระทำที่มีการลงมติไม่ให้มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ซ้ำ ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นจึงหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระในข้อเท็จจริง จึงได้ตีตก เนื่องจากคนที่ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ในการที่จะร้อง ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคและกระบวนการ 
 

พรรคก้าวไกลได้เห็นในเรื่องนี้และยืนยันมาโดยตลอด ว่ากรณีแบบนี้รัฐสภาควรจะว่ากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรที่ไม่ถูกต้องที่ทำผิดไป โดยหลักการแล้วรัฐสภาของเราก็มีอำนาจในการแก้ไขปรับปรุง นั่นจึงเป็นที่มา ว่าในการพิจารณานายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ ครั้งที่ 2 เราจึงมีมติที่จะเสนอญัตติ เพื่อให้รัฐสภาได้มีการทบทวน ว่าการที่รัฐสภาเคยมีมติในญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาซ้ำไม่ได้  เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ดังนั้น ในโอกาสที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ก็ต้องรอประธานรัฐสภา ในการกำหนดวาระการประชุม พรรคก้าวไกลก็ยืนยันที่จะเสนอญัตตินี้ต่อไป และหวังว่ากระบวนการนี้จะทำให้รัฐสภาทำสิ่งที่ถูกต้อง และยืนยันว่าไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง 

"เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่เราหวังว่าการเสนอญัตติตรงนี้ จะทำให้รัฐสภาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และยืนยันว่าสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ว่าใครก็แล้วแต่เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เสนอกันไปแล้วก็ไม่ผ่าน แล้วจะมาบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การคิดแบบนี้เป็นการเล่นการเมืองไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการพิจารณาตามข้อกฎหมาย และยืนยันว่าการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธาหรือคนอื่นๆ รอบนี้เสนอไม่ผ่านรอบต่อไปก็ยังจะเสนอได้ ทั้งนี้ก็ต้องมีกระบวนการเพื่อให้รัฐสภาได้ทบทวนต่อไป "นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ ยังยืนยันว่าไม่ยื่นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวแน่นอน เพราะกรณีของพรรคก้าวไกล แน่นอนว่าโดนเป็นเป้า เพื่อให้ไม่ได้เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ พร้อมย้ำว่าต้องการที่จะให้กระบวนการของรัฐสภาเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นก็จะไม่เห็นนายพิธายื่นคำร้องเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน 

ส่วนหากมีการเสนอญัตตินี้เข้าไปอีกจะมีเสียงสนับสนุนพอหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องของหลักการ การเสนอเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อตัวเอง ไม่ได้เสนอเพื่อให้นายพิธากลับมา มีโอกาสเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะขณะนี้นายพิธาไม่ได้ยืนอยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่การเสนอแบบนี้เป็นหลักการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และไม่ว่าแคนดิเดตจะชื่ออะไร ก็จะได้ประโยชน์จากการเสนอญัตติของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น 

"เว้นเสียแต่ว่ามีบางกลุ่มบางพวก ที่คิดเอาไว้แล้ว ที่จะต้องมีการวางสนุ๊ก วางหมากในการเสนอนายกฯ ให้เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว มี 2 กรณีคือ พรรคก้าวไกลไม่ผ่าน และพรรคการเมืองอื่นก็ไม่ผ่าน แล้วก็หวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนกรณีที่ 2 คือการปูทางสู่นายกคนนอกซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 และการเสนอชื่อนายกก็กำหนดไว้ให้แค่ครั้งเดียว ไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ๆ" นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์ยังยอมรับว่าสถานะของญัตติดังกล่าวนี้ยังคงมีปัญหา แต่ยืนยันเป็นการเสนอญัตติที่ถูกต้อง แม้ยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องสถานะของญัตติ ดังนั้นโดยหลักต้องมีการพิจารณา ไม่ใช่ให้อำนาจประธานวินิจฉัย ซึ่งก็ไม่ได้อ้างข้อกฎหมายเลย ทั้งนี้เราก็พร้อมรับฟัง ว่าการเสนอญัติดังกล่าวจะขัดต่ออะไร ซึ่งประธานก็แค่บอกว่าให้รอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะยังอยู่ในกระบวนการชั้นศาล ซึ่งก็ไม่ได้มีข้อกฎหมายที่ระบุว่าระหว่างรอศาล แล้วทำในเรื่องของการทบทวนไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ตนเข้าใจว่าประธานมีเจตนาหวังดี ตนมองว่าการรอต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ชัดเจนและไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายให้กลับบ้านเมือง 

"การเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ เราก็จะเริ่มห่างไกล จากการมีรัฐบาลที่สะท้อนเสียง หรือประชาชนไปเรื่อยๆ และสุดท้ายเราก็จะได้หน้าตาของรัฐบาล ที่ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนต้องการ แบบนี้ทำลายทั้งประชาธิปไตย ทำลายการเมืองแบบรัฐสภา ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง " นายรังสิมันต์ กล่าว 

สำหรับเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำไมตนถึงได้เสนอให้มีการทบทวน เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐาน เพราะการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภาไม่ได้มีแค่นายกรัฐมนตรี ยังมีอีกหลายกรณีและใหญ่มาก จึงเห็นว่าอย่าสร้างบรรทัดฐานแบบนี้เลย จึงขอให้รัฐสภาได้ทบทวนอย่าสร้างบรรทัดฐานที่ผิดต่อไปเลย ทั้งนี้ต้องรอคุยกับประธานสภา ซึ่งปกติประธานสภาจะนัดพรรคการเมืองพูดคุยหารือ เบื้องต้นจากการประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมาตนเองก็เสนอญัตติ ซึ่งรัฐสภาต้องพิจารณาญัตติของตนก่อน แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาในวันนั้นมีสถานะอย่างไร ซึ่งเราจะต้องนำเรื่องนี้ไปคุยกับประธานสภาว่ามีข้อสรุปอย่างไร ซึ่งในความเห็นของพวกเราเชื่อว่าญัตติดังกล่าว เป็นญัตติที่ถูกต้องแล้ว แต่เข้าใจว่าทุกฝ่ายอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน จึงต้องมีการพูดคุย 

ส่วนการเสนอญัตติจะทำให้มติครั้งที่แล้วเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า "คงต้องลองดู มองว่ารอบที่แล้วจุดประสงค์ คือต้องการทำลายพรรคก้าวไกล ต้องการที่จะเล่นงานนายพิธา แต่เราจะเผาบ้านเพื่อไล่หนูเหรอ ดังนั้นวันนี้คุณได้ทุกอย่างไปหมดแล้ว คำถามคือคุณจะเผาบ้านต่อไปเพื่ออะไร ดังนั้นการกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้องหวังว่าจะทำให้กลับมาได้ ซึ่งตนตอบมาได้ว่าสุดท้ายที่ประชุมจะว่าอย่างไร"

ส่วนที่พรรคก้าวไกลขอขยายเวลาส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีนโยบายแก้ไขม.112 ออกไปอีก 30 วัน ว่า ข้อเท็จจริงทางผู้ร้องมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้นเราจึงต้องเอาเอกสารตรงนี้มาพิจารณาเพื่อที่จะได้เขียนคำชี้แจง เพราะมีรายละเอียดที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งการขยายระยะเวลาตรงนี้จะเป็นคุณหรือเป็นโทษก็คงอยู่ที่กระบวนการและมีโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจอย่างไร พร้อมยืนยันว่าเราทำถูกต้องทุกอย่างในการเสนอนโยบายไปที่กกต. แต่เป็นปัญหาเพราะเราดันได้ที่ 1 ถ้าเราไม่ได้ที่ 1 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการกลั่นแกล้งใช้นิติสงครามอย่างที่ทำกันอยู่ก็คงไม่มาถึงจุดนี้กัน เพราะมั่นใจในพยานหลักฐานและการต่อสู้คดี จึงยังไม่กังวลว่าจะมีการยึดพรรค ยังมั่นใจว่ากระบวนการที่ทำมาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด

“ 112 เคยมีการแก้ แก้มาโดยตลอด ล่าสุดคือคณะรัฐประหาร ถ้าที่ผ่านมาการแก้ 112 ทำได้ก็อยากให้ความเป็นธรรมกับพวกเราด้วย ว่า เจตนาของพวกเราพยายามใช้กระบวนการปกติในการแก้กฎหมาย ไม่มีอะไรเลย” นายรังสิมันต์โรม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.