'วันนอร์' นัดประชุม3ฝ่ายเล็งเคาะวันโหวตนายกฯ22ส.ค.66
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินในการวินิจฉัยมติรัฐสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องแล้ว การดำเนินการของรัฐสภา จึงสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทำให้รัฐสภา สามารถเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยในวันพรุ่งนี้ เวลา 14.00 น. ฝ่ายกฎหมาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมาพิจารณาคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และเตรียมบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาที่ค้างอยู่ ซึ่งรวมถึงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
หลังจากนั้น ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เวลา 10.00 น.จะประชุมกับตัวแทน 3 ฝ่าย ทั้งวิปวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหาข้อสรุปว่า จะสามารถกำหนดวันประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ซึ่งตนเอง ได้หารือกับประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
ส่วนญัตติของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอให้รัฐสภา ทบทวนมติการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่ยังคงค้างการพิจารณาของรัฐสภานั้น ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า เมื่อมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็จะต้องหารือกับวิป 3 ฝ่ายต่อไป ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งคาดว่า นายรังสิมันต์ จะร่วมประชุม 3 ฝ่ายวันที่ 18 สิงหาคมนี้ด้วย และแม้นายรังสิมันต์ จะขอให้ทบทวนอย่างไร ก็จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา คาดหวังให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อนการลงมตินั้น ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ตนเองจะนำข้อเสนอไปหารือกับคณะทำงานด้านกฎหมายของรัฐสภา และตัวแทน 3 ฝ่ายก่อน และจะเตรียมขั้นตอนเผื่อไว้ทั้งในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น สส. และไม่ได้เป็น สส. แต่หากรัฐสภา เปิดโอกาสให้สามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้ และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้อยู่ในที่ประชุมฯ ก็จะไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมได้อยู่ดี และเดิมทีในการยกร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2562 จะกำหนดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ แต่คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ตัดออกไป เพราะกังวลว่า ในขณะนั้น ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จะเป็นบุคคลภนอก ไม่ได้เป็น สส. ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น สส. ดังนั้น ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ไว้ และเมื่อการเลือกเมื่อปี 2562 ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ก็ไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ด้วย
ประธานรัฐสภา ยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ควรแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม พร้อมยังหวังว่า ในการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตามกำหนดในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ จะเป็นไปอย่างเรียบร้อย และถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับการประชุม แต่ทั้งนี้ กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นหรือไม่ ก็ต้องอยู่อยู่กับที่ประชุมรัฐสภา
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.