พิธาถามกกต.2ข้อหลังกก.ไต่สวนยกคำร้องอาญาม.151ปมถือหุ้นiTV

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝากคำถามถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2ข้อภายหลังคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของกกต. มีมติยกคำร้องคดีอาญามาตรา151 ยืนยันปมถือหุ้นไอทีวีถือเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองเนื่องจากได้ถือหุ้นมาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เพิ่งมาเกิดเรื่องข้อร้องเรียนในเวลาที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

สำหรับเนื้อหาที่นายพิธา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก มีดังนี้ 

เมื่อวานนี้มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของ กกต. มีมติว่าจะให้ยกคำร้องผมในคดีอาญามาตรา 151 เรื่องการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร จากการถือหุ้นไอทีวี โดยคณะกรรมการสืบสวนมีเหตุผลสำคัญว่า บริษัทไอทีวีไม่มีการดำเนินกิจการอยู่และไม่มีรายได้จากการเป็นสื่อ จึงไม่ถือว่าผมมีความผิด 

ผมยืนยันอีกครั้งว่า คดีหุ้นไอทีวีของผม เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะผมถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เป็น ส.ส. มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่ผมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อผมต่อสภาไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่ามีความพยายามปลุกปั้นให้บริษัทไอทีวีซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็น “หุ้นสื่อ” ให้ได้ 

มาวันนี้ ที่มีการเปิดเผยมติของคณะกรรมการไต่สวนออกสู่สาธารณะแล้วว่าผมไม่ผิด ทำให้มีประเด็นคำถามที่ผมขอถามไปยัง กกต. ดังนี้

1. คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 (คดีอาญา) มีมติก่อนที่ กกต. จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต จะอ้างว่า การพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐานและเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริง ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อและมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชนในขณะที่ผมสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่กกต. กลับยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่

2. การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติว่า หุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น การสั่งให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ไอทีวี และอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่า ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อ (นอกจากคดีคุณธนาธร) ของ สส. ปี 2563 ประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีผม กลับสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมจึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผม มีความเป็นธรรมหรือไม่

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.