บิ๊กเกรียง ไม่ขัด สมาชิกชงชื่อนั่ง ประมุขสภาสูง บุญส่ง พร้อมทำหน้าที่รองปธ.

ภายหลังจากกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรอง 200 สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ไปเมื่อวันที่ 10ก.ค.67 และให้ว่าที่สว. เดินทางมารับหนังสือรับรองที่กกต.วันที่ 11-12ก.ค. เพื่อนำไปรายงานตัวต่อ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาระหว่างวันที่ 11ก.ค. 12ก.ค. และ 15ก.ค. โดยความสนใจจับจ้องไปที่ ตำแหน่งประธาน และ รองประธานวุฒิสภา ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวของ กลุ่มสว.ที่มีจำนวนเสียงข้างมากที่สุด ถูกขนานามเป็น สว.กลุ่มสีน้ำเงิน และ สว.สายอิสระ ที่มีความผนึกกำลังของ สว.ฝ่ายประชาธิปไตย สว.อิสระ จะเสนอรายชื่อ บุคคลที่มีความเหมาะสม เข้าชิงตำแหน่ง ประธานและรองประธานวุฒิสภา เช่นกัน 

พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อดีตแม่ทัพภาค4 ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานสว.ว่า  รู้สึกหนักใจ ขอขอบคุณสื่อที่นำเสนอให้ตนเป็นหนึ่งในแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา แต่ความตั้งใจที่มาเป็นสว.เพราะอยากทำงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นงานที่ต่อเนื่องและตนคิดว่า น่าจะใช้ประสบการณ์ความรู้ที่ผ่านมาไปแก้ไขปัญหาให้กับภาคใต้เกิดสันติสุขอย่างถาวร

ถามว่ากรณีที่มีสว.กลุ่มสีและสว.กลุ่มอิสระ จะสู้กันในสภา พลเอกเกรียงไกรกล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสและทุกคนมีองค์ความรู้ในหลากหลายกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ในกระบวนการการเลือก ถือว่าครอบคลุมหลากหลายทุกคนมีประสบการณ์ในอาชีพของตนเอง และก้าวเข้ามาอาสาที่จะดูแลประชาชนอาชีพของตนเอง ซึ่งเป็นบริบทของสมาชิกวุฒิสภา 

กรณีที่พลเอกเกรียงไกรเป็นอดีตข้าราชการทหารจะถูกมองไปอีกมุมหนึ่งหรือไม่ พลเอกเกรียงไกร กล่าวว่า คงไม่เป็นอะไร อยากทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง อยากใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 มาทำให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของความแตกต่าง ยืนยันว่ารับได้เพราะความหลากหลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลง หากรับฟังความเห็นของคนอื่นก็จะทำให้เกิดความรอบครอบมากยิ่งขึ้น
 

พลเอกเกรียงไกร ยังกล่าวถึงการทำงานของสว.ชุดใหม่ในอนาคตว่า จากความหลากหลายจาก 20 กลุ่มอาชีพทำให้ความได้เปรียบในเชิงการปฏิบัติของผู้คน การกลั่นกรองของสว.ชุดใหม่ และกลุ่มที่ถูกจัดตั้งมานั้น ขอให้มองย้อนกลับไปที่กระบวนการที่ถูกกล่าวหาว่า ฮั้ว คิดว่ามีทุกกลุ่ม การเข้ามาสู่กระบวนการเลือกสว.อยู่ในห้วงเวลาที่จำกัด ไม่มีเวลาหาเสียง จึงใช้การโทรหาผู้สมัครด้วยกันสะส่วนใหญ่ หรือรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอโอกาสของตัวเอง คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ส่วนมุมมองต่างๆหรือข้อท้วงติงของสังคม ก็อยู่ในกระบวนการตรวจสอบต่อไป 

ส่วนที่มีการมองกันว่าจะมีกินรวบตำแหน่งของสว.เสียงข้างมากนั้น ขอให้รอดูในวันเปิดการประชุม กระบวนการประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับในเสียงส่วนมาก แต่ต้องไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อย รับฟังและนำมาเป็นจุดที่จะนำไปสู่เป้าหมาย

เมื่อถามว่าหากมีคนเสนอชื่อเป็นประธาน มีความพร้อมหรือไม่พลเอกเกรียงไกร กล่าวเพียง “ก็แล้วแต่นะครับ แล้วแต่หมวดหมู่สมาชิก” ผู้ที่เป็นประธานวุฒิสภาต้องมีความเชี่ยวชาญหลายอย่างรอบรู้ทางด้านกฎหมายและมีวุฒิภาวะเป็นที่ยอมรับ ส่วนจะเป็นนักกฎหมายหรือนักบริหารก็แล้วแต่สมาชิก ทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอใครก็ได้และคิดต่างกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับในกระบวนการตกลงใจกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอใครก็ได้ สมาชิกวุฒิสภา 200 คน มีโอกาสทุกคน คนที่เป็นประธานต้องรู้ระเบียบข้อบังคับการประชุมต่างๆ ส่วนตัวยังไม่ได้มีโอกาสดูว่าวุฒิสมาชิก 200 คนมีใครเคยเป็นสว.แล้วบ้าง  แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่คุณเคย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะฉะนั้นเป็นบทบาทใหม่ที่เราต้องเรียนรู้กันในกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงหลักการในการทำงานต่างๆ

เมื่อถามว่าวุฒิสภาจะทำเป็นสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนได้หรือไม่ พลเอกเกรียงไกร กล่าวว่า หากทุกคนมีวุฒิภาวะมีความรู้สึกสำนึกในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนคาดหวัง คิดว่าทิศทางนั้นจะเป็นไปด้วยดี

ส่วนกรณีที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตนเองเป็นหนึ่งในสว.มีสี พลเอกเกรียงไกร ระบุว่า “ผมสีน้ำเงินเข้มอยู่แล้วครับ หมายถึงว่าผมมาจากทหาร ชาติ ศาสนา รักสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต”

นายบุญส่ง น้อยโสภณ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ซื่อสัตย์ในการทำหน้าที่ รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เป็นกลาง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เคยเป็นผู้พิพากษา ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เคยเป็นที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา นายศุภชัย สมเจริญ จึงเข้าใจบทบาท และหน้าที่ของรองประธานสภา และหน้าที่สว.เป็นอย่างดี 

ถามว่าปรากฏชื่อ เป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภาคน นายบุญส่ง ได้ขอบคุณสื่อมวลชน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเชื่อว่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ที่จะเสนอชื่อ และสิทธิของ สว.ที่จะลงมติเลือกบุคคลที่เหมาะสม ต้องมอง สว.ในแง่บวก แต่เชื่อว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็จะสามารถทำหน้าที่ได้

ถามว่าเคยทำงานร่วมกับ อดีตรองประธานวุฒิสภา มาก่อน มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภาหรือไม่ว่า นายบุญส่งกล่าวว่า มีความพร้อม เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ตนเองก็มีส่วนให้ความเห็น

นายบุญส่ง ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการจับกลุ่ม สว.ต่อรองผลประโยชน์ และมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังว่า ไม่ควรพูดถึง ถือเป็นเรื่องในแง่ลบ เชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนใดเข้ามายุ่งเกี่ยว เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจน กกต.มีการตรวจสอบ จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการและมองว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้สนใจกระแสข่าวการจับกลุ่มต่อรองผลประโยชน์

ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภา จำเป็นต้องรู้เรื่องกฎหมายหรือไม่นั้น นายบุญส่งกล่าวว่า ไม่จำเป็น แต่แม่นข้อบังคับการประชุม เพราะตีความได้ยาก ประธานฯ ต้องเก่งและประนีประนอมได้ อย่าตัดบทในขณะที่สมาชิกอภิปราย ไม่เช่นนั้นจะทะเลาะกัน ซึ่ง สว.มาจากหลากหลายกลุ่ม การควบคุมการประชุมก็จะยากขึ้น 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.