ทสท.-นักวิชาการ ชี้รธน.ต้องแก้ ชงข้อเสนอ ไม่ให้ใช้ม.112 เครื่องมือการเมือง
ที่รัฐสภา พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย จัดเสวนาทางวิชาการ ทางออกในการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ และปัญหาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับมาตรา 112 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมพูดคุย อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายโภคินกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาในหลายจุดหลายมาตรา เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด ให้ทันการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น กระบวนการแก้ไขที่ผูกติดกับการทำประชามติหลายครั้ง จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล่าช้า แก้ไขได้ยาก ท้ายที่สุดอาจไม่ทันการเลือกตั้งหรือไม่สามารถแก้ไขได้ จนหมดวาระของรัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ
วิธีที่จะทำให้การแก้ไขเป็นไปตามเจตจำนงค์ของพี่น้องประชาชน มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยก่อนการเลือกตั้ง จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ แต่ดำเนินการแก้ไขตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป เว้นการแก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 วิธีการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง แต่เราจะได้รัฐธรรมนูญ ที่มีการแก้ไขและยังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยหลักการคือการนำรัฐธรรมนูญปี 60 มาแก้ไขใหม่ ปรับแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปไม่แก้ไขหมวด1หมวด2 จัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100%เป็นผู้แก้ไข
ส่วนจะนิรโทษกรรม พี่น้องประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่และอย่างไรนั้น อาจต้องมีการปรับแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะขั้นตอนการกล่าวโทษต้องมีคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองป้องกันการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงการเสนอให้เพิ่มกระบวนการ ขอพระราชทานอภัย ก่อนมีคำพิพากษา
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 แม้จะแก้ไขยาก แต่ท้ายที่สุดก็สามารถการแก้ไขได้ เมื่อรัฐธรรมนูญใช้ไประยะหนึ่ง ควรมีการปรับปรุงแก้ไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนการทำประชามติเห็นว่าควรทำหลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เป็นได้ทั้งปัญหาและโอกาส อาจพิจารณามองข้ามบางหมวด ที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ขณะเดียวกันต้องไปศึกษาเพิ่มเติมคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคนขอแก้บางมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับอำนาจการปกครอง
ฝากไปถึงผู้ที่จะเข้ามามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องสื่อสารให้ดี เพื่อไม่ให้การมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) คือการตีเช็คเปล่า ซึ่งจะทำให้การตอบรับจากประชาชนอาจเป็นไปในทิศทางอื่นได้ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น คนมองไปที่บุคคลซึ่งถูกกลั่นแกล้ง จึงเห็นด้วยกับการเสนอตั้งคณะกรรมการ เพื่อเสนอความเห็นก่อนอัยการส่งฟ้อง มองว่าเป็นช่องทางที่ดี หากมีพระราชทานอภัยก่อนที่คดีจะถึงที่สุด
นายยุทธพร กล่าวว่า หลายครั้งที่พยายามออกแบบกลไกต่างๆในรัฐธรรมนูญแต่ท้ายที่สุดก็เกิดปัญหา รัฐธรรมนูญจึงอาจไม่ใช่คำตอบ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทุกภาคส่วนในสังคมจึงต้องมาตั้งสติ
คำวินิจฉัยศาลที่ 4/2564 ยังไม่มีความไม่ชัดเจนในเงื่อนไขที่จะพิจารณา มาตรา 255 ระบอบการปกครอง และ 256 ก็จะขัดกับ 255 ไม่ได้ ทำให้การไม่แก้บางมาตรา เป็นวิธีที่ดี แต่ด้วยเงื่อนไขหลักการวินิจฉัย 4/2564 ก็จะยังไม่เป็นการยืนยันว่าคือการแก้ไขที่ไม่เป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่
การนิรโทษกรรมโดยใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจไม่สามารถทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้ ด้วยการแก้ไขกฎหมายเพียงฉบับเดียว เนื่องจากมีการแบ่งขั้วที่ร้าวลึกในสังคมไทยเกิดขึ้น พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์เกิดขึ้นในรัฐ และเกิดคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 110 ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขหรือนิรโทษกรรมอาจมีความแตกต่างกัน อาจเกิดผลในทางบวกทางลบแตกต่างกันซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.