เต็งหนึ่งประธานสว.ไม่เปลี่ยน สายอิสระ ฮึดสู้ท้าชน ส่งแคนดิเดต ชิงเก้าอี้

ภายหลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรองสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในปี2567 ที่มาจากการคัดเลือกกันเองระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จนเหลือ สว.ที่ต้องไปทำหน้าที่ 200 คน และ บัญชีสำรองอีก 99 คน และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดให้สว.นำหนังสือรับรองจาก กกต.มารายงานตัว ระหว่างวันที่ 11 ก.ค. 12ก.ค. และ 15ก.ค.

ท่ามกลางการจับตามอง สว.มากกว่า 140 คน ส่วนใหญ่ใกล้ชิดกับบางพรรคการเมือง จนถูกขนานามเป็น 'สว.สายสีน้ำเงิน' จนเกิดความหวั่นเกรง กลไกลกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุลจากสภาฯสูง ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การพิจารณากลั่นกรองกฎหมายที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร(สส.) การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณากฎหมายการเงินและกฎหมายฉบับต่างๆ จะทำให้เกิดการถ่วงดุล ตรวจสอบ ได้มากน้อยเพียงใด

ตามกระบวนการขั้นตอน หลังจากวันที่ 15ก.ค. สว.ทั้ง200คนไปรายงานตัวจนครบแล้ว ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะแจ้งวันประชุม เพื่อให้สว.ปฏิญาณตน และเข้าสู่กระบวนการเลือก ประธานสมาชิกวุฒิสภา และ รองประธานสมาชิกวุฒิสภา อีก 2 ตำแหน่ง ท่ามกลางการจับตามอง ผู้มีอำนาจสายสีน้ำเงิน ที่มีกระแสข่าววาง

'มงคล สุระสัจจะ' สว.กลุ่ม2 อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ไปทำหน้าที่ประธานสภาฯนั้น ขณะเดียวกัน ในส่วนของรองประธานสภาฯ มีตัวเต็งหลายคน ไม่ว่าจะเป็น 'พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์' อดีตแม่ทัพภาค4 อดีตประธานคณะทำงานรมว.มหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล

'สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม' นักการเมืองหลายสมัย ที่มีคอนเนกชั่นทางการเมืองกว้างขวาง 'บุญส่ง น้อยโสภณ' อดีตกกต. ต่างอยู่ในข่ายกลุ่มตัวเต็ง ถูกจัดวางให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น รองประธานวุฒิสภาคนที่1 ขณะที่รองประธานวุฒิสภาคนที่2 กำลังเลือกเฟ้น ผู้หญิง ที่มีความเหมาะสมไปดำรงตำแหน่ง 

ขณะเดียวกันเริ่มมีความเคลื่อนไหว สว.อีกกลุ่ม ที่นิยามตัวเอง 'สว.อิสระ' ที่รวมตัวกันเหนียวแน่น ในนามนักวิชาการ นักคิด นักเคลื่อนไหว ที่มีภาพลักษณ์ผูกโยงเป็น สีส้มจางๆ หลายคน

ว่ากันว่า ในวันที่ 15ก.ค.  สว.สายอิสระหลายคน จะเดินทางมารายงานตัวพร้อมกันอย่างพร้อมเพรียง เนื่องจากหลายคนขอเวลาเตรียมตัว เพราะหลายคนอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

แม้สว.อิสระ จะไม่ได้เก้าอี้ในสภาสูง ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ แต่ก็ เกาะกลุ่มเหนียวแน่น เริ่มหารือเบื้องต้น ในการเฟ้นหา ผลักดันสมาชิกในกลุ่ม เพื่อเตรียมเสนอชื่อเข้าไปทำหน้าที่ ประธาน -รองประธานสมาชิกวุฒิสภา ที่ทางกลุ่ม อยากให้เห็นการเปิดกว้าง หลากหลาย มากกว่า บางกลุ่มจ้องที่จะผูกขาดตำแหน่งสำคัญๆเพียงกลุ่มเดียว 

'เทวฤทธิ์ มณีฉาย' สว.กลุ่ม 18 ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ ต่อกรณี สว.กลุ่มใหญ่ ที่รวมตัวกันและถูกคาดการณ์ว่าเป็นประธานและรองประธานวุฒิสภา 

"เสียงข้างมากอาจจะถูกมองไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่หลักการประชาธิปไตยต้องเคารพและรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย เปรียบกับการทำงานของวุฒิสภาชุดก่อน เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม วุฒิสภาควรเปิดพื้นที่ให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจากประชาชนในเรื่องของการร้องทุกข์

สว.ชุดนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ควรที่จะรู้ร้อนรู้หนาว ควรรับฟังความคิดเห็นความต้องการของประชาชน หวังว่าวุฒิสภาชุดใหม่ แม้จะถือมติของเสียงส่วนใหญ่ แต่ควรเคารพเสียงส่วนน้อย เอาหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือเสียงของประชาชนเข้ามาพิจารณาด้วย”

สำหรับ ประธานสว. และรองประธานสว. ถือเป็น คีย์แมนสำคัญ ในการกำหนดทิศทางต่างๆในสภาสูง การจะบรรจุวาระ การคุมกลไกต่างๆต่อการประชุมในแต่ละครั้ง และยิ่งโดยเฉพาะในเรื่อง วาระร้อนที่ส่งต่อมาจาก ฝ่ายการเมือง-กลุ่มผู้มีอำนาจ ต้องอาศัย บุคคลที่ไว้วางใจได้ในการควบคุม จึงถือเป็น3ตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง

นับจากนี้คงต้องจับตาดู การตัดสินใจของ 'ผู้มากบารมีสายสีน้ำเงิน' จะเดินเกม 'กินรวบ' หรือ 'แบ่งปัน-กระจายอำนาจ' ในหมากขั้นแรก ลดแรงเสียดทาน ข้อครหา รวบอำนาจเบ็ดเสร็จจนเกินไป หลังจาก เลือกเฟ้นจนทำให้ สภาสูงถูกปกคลุมด้วยสีน้ำเงิน ไปแล้ว 
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.