"สรรเพชญ"ฉะร่างงบปี68 รัฐบาลกู้เงินชดเชยการขาดดุลสร้างภาระคลัง

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 16.40 น. ที่รัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระแรก

นายสรรเพชญ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการสะท้อนถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล

โดยตนมีความเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายที่พิจารณาในวันนี้ รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการจัดสรรงบประมาณไม่เหมือนกับงบประมาณฉบับที่ผ่านมา สิ่งที่ตนเห็น คือ รัฐบาลมีความพยายามที่จะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมาและทำงบประมาณแบบไม่รับผิดชอบ ประเทศจะเสียหายอย่างไรไม่เคยคิดรับผิดชอบ ขอให้ได้หาเสียงเป็นพอ

อีกทั้งเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็เคยให้ฉายารัฐบาลว่า “เป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” แต่พอพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล กลับกู้เงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งจะพาประเทศลงเหว

นายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่สูงถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลจะกู้เพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกตามที่ตนได้เคยอภิปรายไว้ในสภาตนไม่ติดใจ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ คือ “รัฐบาลจะกู้เงินเพื่อมาแจก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร 

นายสรรเพชญ  กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณเตือนเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องหาแนวทางในการแก้ไข เพราะปัจจุบันแม้จะมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 70% แต่ในปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 67.9% แล้ว ตนจึงมีความเป็นห่วงว่า ปีงบประมาณหน้าอาจจะอยู่ที่ 69.9% เพราะจากสถิติของปี 2564 - 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นปีละ 2% ซึ่งในสากลมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 60% หากส่วนนี้เกินแสดงว่า รัฐบาลกำลังใช้จ่ายเกินตัว จึงเป็นสัญญาณเตือนแรกที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง 

นอกจากนี้ในเรื่องของสัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ซึ่งตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานไม่ควรเกิน 3% ซึ่งกำลังสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งเป็นการกู้ชดเชยการขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็มีความน่าเป็นห่วงที่จะจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้ต้องกู้ชดเชยเพิ่มขึ้นอีก 

นายสรรเพชญ ได้ตั้งคำถามเพิ่มเติมไปยังรัฐบาล ว่า ข่าวหนาหูอีกเรื่องหนึ่ง คือ กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะไปออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังไม่เคยออกมาแถลงเพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ตนมีความเห็นว่า หากรัฐบาลจะออกพันธบัตรเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะหลักการที่สำคัญ คือ รัฐบาลควรก่อหนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าใช้จ่ายในงบประมาณ 

นอกจากนี้ในเรื่องของ Digital Wallet ที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่รัฐบาลได้มีการสอดไส้งบประมาณไว้ในรายจ่ายงบกลางกว่า 152,700 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณที่เหลือรัฐบาลต้องไปเบียดบังมาจากงบประมาณปี 2567 และรีดนาทาเร้นให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการไปก่อน ซึ่งจะเกิดปัญหาภาระงบประมาณกึ่งการคลังในอนาคต 

นายสรรเพชญ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า รายการขอของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนสูงถึง 6.5 ล้านล้านบาท แต่ต้องมีการตัดทอนไปถึง 2.8 ล้านล้านบาท ทำให้โครงการดี ๆ ของส่วนงานต่าง ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่กลับไปใช้ในโครงการที่หวังผลทางการเมือง อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้มีทรัพยากร หรือเงินมากมาย ที่จะให้รัฐบาลทำโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์หรือที่เรียกว่ากู้ไปผลาญ รัฐบาลจึงควรนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาคนให้พร้อมต่อการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.