อัยการ ส่งฟ้อง‘ทักษิณ’ คดี 112-พรบ.คอมพ์ ศาลอาญามีคำสั่งประทับฟ้อง
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า สำนักงานอัยการสูงสุดแถลง พนักงานอัยการส่งฟ้อง พันตำรวจโท หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีรายละเอียดังนี้
ตามที่งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ว่านายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องพันตำรวจโท หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 นั้น
วันนี้ (18 มิถุนายน 2567 เวลา 08.56 น.) นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีได้ส่งฟ้อง พันตำรวจโท หรือนายทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลอาญา ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว โดยศาลประทับ รับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567 ซึ่งบัดนี้คดีได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว หากมีผลคืบหน้าทางคดีสำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ทนายความของนายทักษิณ ได้ยื่นขอความเป็นธรรม โดยอ้างพนักงานสอบสวนที่ทำคดีถูกกดดันจากคณะรัฐประหาร หลังปี 2557 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่า จากการตรวจสอบไม่มี แต่การประกันตัวตามถ้อยคำคำฟ้องได้ระบุให้เป็นไปตามดุลยพินิจของศาล
หลักปฏิบัติว่า ผู้ต้องหาไม่ว่ารายใด ได้รับการปล่อยชั่วคราว สัญญาประกันจะมีอยู่ตลอดเวลา จนกว่าศาลจะได้รับตัวต่อจากอัยการ เมื่อศาลประทับรับฟ้อง และอัยการได้ส่งตัว พร้อมคำฟ้องให้ศาลอาญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า หากผู้ต้องหามาพบอัยการ เจ้าหน้าที่ก็จะนำตัวไปศาล หรือจำเลยสะดวกรอที่ศาล ก็สามารถไปที่ศาลได้ เช่นเดียวกับคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่คดี ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนของพนักงานอัยการ ดังนั้น กระบวนการส่งฟ้องต่อศาล จึงเป็นการฟ้องเบิกตัวซึ่งศาลฯ จะประสานกับกรมราชทัณฑ์ ไม่ใช่การฟ้องส่งตัว เหมือนกรณีของนายทักษิณ ที่ได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังชี้แจงด้วยว่า เมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาคดีอาญาในชั้นสอบสวน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเงื่อนไขกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่หนี และไม่ทำให้เสียหายต่อความยุติธรรม
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังปฏิเสธให้ความเห็นกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตคลิปหลักฐานไม่ใช่คลิปต้นฉบับ เนื่องจาก เป็นรายละเอียดทางคดี และไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการในชั้นศาล และศาลได้ประทับรับฟ้องเข้าสู่กระบสนการศาลแล้ว ดังนั้น ทุกอย่างต้องไปว่ากันในห้องพิจารณาคดี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.