กิน “เค็ม” เกินวันละ 1 ช้อนชา เสี่ยงความดันสูง-โรคไต-หัวใจ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนการบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันจะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในร่างกายทำให้มีความดันโลหิตสูงขึ้นส่งผลให้ไตและหัวใจทำงานหนักและอาจจะส่งผลในระยะยาวทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตแทรกซ้อนตามมา พร้อมแนะวิธีลดปริมาณโซเดียมในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้หัวใจและไต ทำงานหนัก


โซเดียมไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ 400 มิลลิกรัม โดยร่างกายมีความต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน 


โซเดียม พบได้ในอาหารอะไรบ้าง ?

  • เกลือโซเดียม หรือเกลือแกง

  • เครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม เช่น น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ 

  • อาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เป็นต้น 

  • ขนมอบกรอบ ผงชูรส มีเกลือโซเดียมแอบแฝงจำนวนมาก


อันตรายจากการบริโภคโซเดียมเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

หากรับประทานอาหารที่เค็มจัดที่มีเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงมากกว่า 6 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงซึ่งในระยะยาวมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและไตเสื่อม

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งถ้าได้รับมาก ทำให้มีการคั่งของสารน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและความดันในหลอดเลือดฝอยของหน่วยกรองในไตสูงขึ้นทำให้ไตทำงานหนักขึ้นนอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่พอเพียงไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจะเกิดผลดีต่อการทำงานของควบคุมความดันโลหิตทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา 


วิธีลดปริมาณการบริโภคโซเดียม

  1. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง 

  2. ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง

  3. เลือกบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด 

  4. หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก 

  5. ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภค
     
  6. ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา ตลอดจนเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ในสูตรปรุงอาหาร ถ้ารสชาติไม่อร่อยจริงๆ จึงค่อยเพิ่มปริมาณของเครื่องปรุงรส 

  7. ควรปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานรับประทานอาหารรสจืด โดยไม่เติมเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา ตลอดจนซอสปรุงรสในอาหารเด็กและทารก 

  8. ควรบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.