สาเหตุของ “ตาปลาที่เท้า” และวิธีรักษาที่ถูกต้อง
ตาปลาที่เท้า คือ เนื้อเยื่อของผิวหนังที่นูนขึ้นมาเป็นก้อนแข็งหรืออ่อน มักเกิดขึ้นบริเวณด้านบนของนิ้วเท้า ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า แต่อาจเกิดขึ้นในบริเวณอื่นของร่างกายได้เช่นกัน แม้ตาปลาที่เท้าจะไม่เป็นอันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญและความเจ็บปวดเวลาเดิน หรือวิ่งได้ เพราะตาปลาถูกกดให้ลึกเข้าไปในผิวหนัง
ตาปลาที่เท้า คืออะไร
ตาปลาที่เท้า คือ ชั้นผิวหนังที่นูนขึ้นมาเป็นก้อน มีทั้งชนิดแข็งหนาและชนิดอ่อน เกิดจากผิวหนังพยายามป้องกันตัวเองจากการเสียดสีและแรงกดที่เกิดขึ้นเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใส่รองเท้าผิดไซส์ เป็นต้น ตาปลาที่เท้าสามารถพบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ
อาการของตาปลาที่เท้า
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของตาปลาที่เท้า เช่น
- มีตุ่มหนา แข็งกระด้าง บริเวณด้านบนของนิ้วเท้า ง่ามเท้า หรือฝ่าเท้า
- ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งเป็นขุยหรือมีผิวคล้ายกับขี้ผึ้ง
- ตุ่มที่ขึ้นจะมีอาการเจ็บเมื่อกด สัมผัส เดิน วิ่ง หรือสวมใส่รองเท้าที่พอดี
สาเหตุของตาปลาที่เท้า
สาเหตุของตาปลาที่เท้ามาจากเท้าถูกเสียดสีหรือกดทับเป็นเวลานานหรือเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยเหล่านี้
- เดินไม่สวมรองเท้า
- สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้า เช่น คับเกินไป หลวมเกินไป จนอาจทำให้เท้าเลื่อนไปมาและเสียดสีกับรองเท้า
- สวมรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้ารัดส้นนานเกินไป
- สวมรองเท้าโดยไม่สวมถุงเท้า อาจทำให้เท้าเสียดสีได้ หรือหากสวมถุงเท้าที่ไม่พอดีเท้า ก็อาจทำให้เกิดตาปลาที่เท้าได้เช่นกัน
- เดินไกล หรือยืนนานๆ
- โครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น นิ้วเท้าหงิกงอ นิ้วเท้างุ้ม
วิธีการรักษาตาปลาที่เท้า
การรักษาตาปลาที่เท้าอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เท้าถูกเสียดสีหรือถูกกดทับซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง อาจบรรเทาอาการได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- ใช้แผ่นรองรองเท้า สำหรับผู้ที่เท้าผิดปกติ ควรใช้อุปกรณ์หรือแผ่นรองรองเท้าที่ทำมาเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดตาปลาที่เท้าซ้ำ
- ใช้ยากำจัดตาปลาที่เท้า เช่น พลาสเตอร์ที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิก 40% โดยทั่วไปควรใช้หินขัดเท้าในการขัดผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อนค่อยแปะพลาสเตอร์แผ่นใหม่
- ตัด หรือลอกผิวหนังส่วนเกินออก โดยตัดเอาผิวหนังที่แข็งหนา หรือตาปลาที่เท้าที่มีขนาดใหญ่ด้วยออกมีดผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตัดหรือลอกตาปลาด้วยตัวเองเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษา
- ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นตาปลาที่เท้า เนื่องจากความผิดปกติของกระดูก ทำให้กระดูกเสียดสีกัน แต่เป็นกรณีที่พบไม่บ่อย
หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิตเป็นตาปลาที่เท้า ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอ เพราะบาดแผลเพียงเล็กน้อย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเป็นหนองได้
การป้องกันการเป็นตาปลาที่เท้า
วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันตาปลาที่เท้าได้ เช่น
- เลือกรองเท้าให้พอดีกับขนาดของเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดการเสียดสี
- สวมใส่ถุงเท้าเนื้อหนาที่พอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เพื่อช่วยลดแรงกดที่เท้า
- พยายามแช่เท้าในน้ำอุ่นเป็นประจำ เพื่อให้เท้านุ่ม
- ใช้แผ่นรองส้นเท้าในรองเท้า เพื่อให้พื้นรองเท้านุ่มและลดแรงกด
- ทาครีมบำรุงเท้าหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้เท้า
- ใช้หินขัดเท้าเป็นประจำ เพื่อขจัดผิวหนังที่แห้งแตกและแข็ง
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง และยืนนานๆ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.