พร้อมหรือยัง? เมื่อยุคของ 'สมาร์ทโฮม' กำลังจะเข้าไปอยู่ในบ้านของทุกคน
หากย้อนไป 5-6 ปีเราคงเคยได้ยินถึงเรื่องของสมาร์ทโฮม และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถสั่งงานเปิด - ปิดได้ แต่ก็ยังไม่ได้แพร่หลายนัก ด้วยราคา และภาพลักษณ์ที่มองว่าอยู่แค่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับพรีเมียมเท่านั้น อย่างไรก็ตามสองปีให้หลังมานี้ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และการรุกคืบของ AI ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะเปิดตัวกันมากขึ้น และครอบคลุมการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างเหลือเชื่อ จนถึงกับว่าหากใครตามไม่ทัน ก็อาจมีเอ้าท์!
นอกจากการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อัจฉริยะขึ้นแล้ว ระบบสั่งการและควบคุมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกพัฒนา จนทุกวันนี้เราได้เห็นหน้าตาของแพลตฟอร์ม 'SmartThings' จาก 'ซัมซุง' แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ทำให้การใช้งานเชื่อมต่อ ลื่นไหล ไม่หงุดหงิดโหลดแอป และเสริมด้วยฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล เอาเป็นว่าแค่นั่งและใช้งานก็รู้สึกถึงความเป็น 'สมาร์ทโฮม' บ้านยุคใหม่ที่ให้ทั้งความล้ำ และไลฟ์สไตล์ที่ไม่ซ้ำอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
สร้างสมาร์ทโฮมที่สมบูรณ์แบบง่ายๆ ด้วยแพลตฟอร์มเดียว
คุณอภิรดี พหลเวชช์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจเครื่องปรับอากาศ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ได้ให้มุมมองต่อประเด็นของการสร้างบ้านที่มีระบบอัจฉริยะให้สมบูรณ์แบบได้อย่างน่าสนใจ โดยซัมซุงเลือกที่จะแก้ไขปัญหาจากฟีดแบ็คของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ โดยพบว่าสิ่งหนึ่งที่จะสร้างการใช้งานบ้านแบบอัจฉริยะให้ง่ายมากขึ้น นั่นก็คือการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อและสั่งงานอุปกรณ์อัจฉริยะ (IoT) หลากหลายแบรนด์ได้ภายในแอปเดียวที่มีชื่อว่า ‘SmartThings’
‘ SmartThings เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นโดยอยากแก้ปัญหา เมื่อลูกค้าต้องเจอว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ IoT แต่ละชิ้น แต่ละแบรนด์ก็จะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ลูกค้าจะต้องเปิดสั่งการผ่านแอปพลิเคชันเยอะมากเลยในมือถือ .. SmartThings จึงมีจุดเด่นที่สำคัญคือ นอกจากจะสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะของทางซัมซุงได้แล้วเกือบทุกชนิดของสินค้าทั้งหมด เรายังสามารถให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ของแบรนด์อื่นได้ด้วย เพราะ SmartThings เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้กับทางผู้พัฒนากับอุปกรณ์ IoT แบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหลอดไฟ ม่าน เซนเซอร์ต่างๆ หรือ ประตูล็อคดิจิทัล สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มได้เลย เพราะตัวซัมซุงเราไม่ได้มีเรื่องของหลอดไฟ ม่าน ด้วยเราจึงอยากเปิดแพลตฟอร์มให้สามารถร่วมงานกับทางแบรนด์อื่นๆ ได้ เพื่อให้ความเป็นสมาร์ทโฮมสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น’
ในปัจจุบัน ‘ SmartThings’ สามารถเชื่อมต่อกับกับอุปกรณ์ IoT แบรนด์ต่างๆ ได้มากถึง 1,690 ชิ้น รองรับกว่า 138 แบรนด์ทั่วโลก และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
‘ ต่อให้เป็นผู้พัฒนาอื่นๆ เวลาเข้าไปในแอปของเรา ก็จะสามารถเชื่อมต่อได้ง่าย เข้าใจง่าย เพราะเราจะมีโลโก้ของผู้พัฒนาแบรนด์นั้นๆ ขึ้นมาให้ผู้ใช้งานได้เห็นเลย และสามารถกดสั่งการเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้น หรือถ้าอยากที่จะเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงได้ ซัมซุงเปิดรับเรื่องนี้ แต่ตอนนี้แพลตฟอร์มอื่นอาจจะสั่งงานได้แบบไม่ครบฟังก์ชั่นเหมือนใช้ผ่าน SmartThings เช่น แอร์ถ้าอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นก็จะสามารถเปิด-ปิด ควบคุมอุณหภูมิห้องได้เช่นกัน แต่ฟังก์ชั่นอื่นเช่น Smart Energy หรือการคำนวณค่าไฟ การดูว่าฟิลเตอร์แอร์ควรเปลี่ยนหรือไม่ อาจจะยังทำไม่ได้ในตอนนี้ ’
SmartThings เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดใช้งานมานานกว่า 7-8 ปี อย่างไรก็ตามในปี 2019 ได้มีความร่วมมือระหว่างยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกทั้ง ซัมซุง กูเกิล แอมะซอน แอปเปิล และกลุ่มพันธมิตรซิกบี เพื่อที่จะวางมาตรฐานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่สามารถใช้งานร่วมกันระหว่างค่ายเป็นครั้งแรกภายใต้เครื่องหมาย Matter และจะเริ่มวางจำหน่ายในท้องตลาดในปี 2023 นี้ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฮมจะต้องเปิดให้ Source Code บางส่วนเป็น Open Source ซึ่งเมื่อผู้ใช้ซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่มีเครื่องหมาย Matter บนกล่องก็จะสามารถเพิ่มอุปกรณ์เข้าสู่แอปพลิเคชั่นที่มีอยู่เดิมได้
ล้ำไปอีกขั้น! พัฒนาแพลตฟอร์ม ให้มากกว่าการสั่งงงานเปิด - ปิด
เมื่อช่วงไม่กี่ปีหลัง AI ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในวงการเทคโนโลยี วงการสมาร์ทโฮมก็ได้รับอานิสงส์ และนำความฉลาดของ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งาน รวมไปถึงขยายขอบเขตความสามารถของเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ไปได้ไกลกว่าที่เราเคยได้เห็นกัน
คุณอภิรดี พหลเวชช์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า ‘ การจะมี SmartThings ได้ล้วนมาจากการวิจัยและการพัฒนา ล่าสุดเราเปิดตัวในส่วนของ Smart Energy เพิ่มขึ้นด้วย คือ นอกจากจะทำให้บ้านสามารถควบคุมการเปิดปิด อุณหภูมิ ดูการบำรุงรักษาได้ Smart Energy จะทำให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้า โดยเราใช้ AI Learning Base ที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าเองก็มี AI Learning Base เหมือนกัน เช่น การเรียนรู้ว่าแอร์เปิดอุณหภูมิที่กี่องศา แล้วเมื่อเกิดการจดจำ ถ้าหากว่าเราลดอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ หลังจากที่ห้องทำความเย็นได้ตามที่ต้องการแล้ว Ai เขาก็จะปรับอุณหภูมิกลับมาที่เราเปิดเป็นประจำให้โดยอัตโนมัติ เราก็จะประหยัดไฟมากขึ้น เครื่องซักผ้าและอบผ้าก็เหมือนกัน ฟังก์ชั่นไหนใช้บ่อย น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ควรจะใช้ปริมาณเท่าไหร่ ผ้าประเภทไหนควรจะใช้เท่าไหร่ ก็จะมีการคำนวณน้ำหนัก ดูวัสดุผ้า และทำให้การใช้น้ำ การใช้น้ำยาต่างๆ สอดคล้องกันไปและช่วยประหยัดได้มากขึ้นเช่นกัน
SmartThings ยังสามารถคำนวณการใช้ไฟฟ้าให้เรา หากเรากำหนดค่าใช้จ่ายไว้ว่าเดือนนี้อยากจะจ่ายค่าไฟที่จำนวนเท่านี้ ถ้าเกือบถึงแล้วมันก็จะแจ้งเตือนมาว่ามีการใช้ไฟฟ้าจะเกินขอบเขตที่กำหนดแล้ว เพราะเราได้พัฒนาให้ตัวแอปสามารถคำนวณค่าไฟได้อย่างแม่นยำและสอดคล้องไปกับค่าไฟตามแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคด้วย ซึ่งทำให้การจัดการภายในบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลวิจัยออกมาแล้วว่า แอร์สามารถประหยัดค่าไฟได้สูงสุดถึง 20% เครื่องซักผ้าสามารถประหยัดค่าไฟได้สูงสุด 70% ตู้เย็นสามารถประหยัดค่าไฟได้สูงสุด 7% และทีวีสามารถประหยัดไฟได้สูงสุด 23%’
อนาคตของ สมาร์ทโฮม การเติบโตที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของคนทุกระดับ
หากย้อนกลับไป 5-6 ปีที่แล้ว อุปกรณ์ที่มีความเป็น ‘สมาร์ทโฮม’ ยังไม่เยอะมากในตลาด เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่มีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับผ่านยุคโควิด ที่เร่งการเติบโตของยุคดิจิทัลมากขึ้นจนกลายเป็น วิถีชีวิตแบบใหม่ได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจการใช้ชีวิตแบบออนไลน์ และมีไลฟ์สไตล์ที่อยู่บ้านมากยิ่งขึ้น สามารถ Work from Home ได้สำหรับบางองค์กร ก็ยิ่งทำให้อุปกรณ์สมาร์ทโฮม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ได้ไม่ยาก
‘ การเติบโตของเครื่องใช้ไฟฟ้าสมาร์ทโฮมในปัจจุบัน อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทแอร์ ของซัมซุงเอง จะเป็นสมาร์ทแอร์ 40% ทีวีเป็นสมาร์ททีวี 100% สมาร์ทตู้เย็น 36% สมาร์ทเครื่องซักผ้าฝาหน้า 90% และสมาร์ทเครื่องซักผ้าฝาบน 15% เรากำลังจะขยายให้มากขึ้นด้วย เรียกว่าในปัจจุบันจนถึงปีหน้าเราจะมีอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าของสมาร์ทโฮมให้ลงไปสู่ตลาดแมสมากยิ่งขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาสมาร์ทโฮมจะมีแค่ในสินค้าระดับพรีเมียมเท่านั้น แต่เราจะได้เห็นสินค้าสมาร์ทโฮมที่ลงไปสู่ตลาดแมสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้มากขึ้นอีกด้วย’
อย่างไรก็ตาม คุณอภิรดี พหลเวชช์ มองว่านอกจากการสร้างพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ หรือการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีความเป็นสมาร์ทโฮมมากขึ้นแล้ว การพัฒนาแอปพลิเคชั่น SmartThings ก็ยังเป็นส่วนสำคัญ โดยจะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้นไปด้วย
‘ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ผู้บริโภคนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เราก็จะพัฒนาฟังก์ชั่นที่เรียกว่า ‘Pet Care’ ซึ่งก็ทำให้เราสามารถมอนิเตอร์สัตว์เลี้ยงที่บ้านได้ แล้วก็สามารถเปิดทีวี เปิดเพลงเป็นเพื่อนเขา หรือว่าใครที่ชอบเรื่องของการทำอาหาร เพราะห่วงสุขภาพมากขึ้น เราสามารถเลือกวัตถุดิบที่มี ป้อนข้อมูลว่าเป็นห่วงสุขภาพเรื่องอะไร ตัวแอปพลิเคชันก็จะสามารถคำนวณเมนูให้ได้ด้วยว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ยังสามารถพาเราเชื่อมต่อไปกับคอมมูนิตี้ต่างๆ ข้างนอกที่สนใจเรื่องเดียวกันได้ด้วย ซึ่งเรามองว่า ตู้เย็น จะไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาความเย็น ความสด อีกต่อไป ทีวีจะไม่ใช่แค่ที่ๆ จะดูหนัง ดูละครอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังสามารถทำอะไรที่ส่งเสริมไลฟ์สไตล์ของคนนั้นให้มากขึ้นด้วย'
‘ เรามองว่ารีเสิร์ชและอินโนเวชันต่างๆ เป็นเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต ที่จะมีสินค้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ฉลาดมากขึ้น แต่สามารถทำประโยชน์อื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ทุกๆ เงินที่ลูกค้าจ่ายไป เราก็จะตอบแทนด้วยประโยชน์ที่มากขึ้นและสูงสุดเช่นกัน’ คุณอภิรดีกล่าวทิ้งท้าย
เป็นที่น่าจับตาว่าสมาร์ทโฮมจะถูกพัฒนาขึ้นไปได้ไกลเพียงใด และสร้างความว้าว!ให้กับไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้อีกมากแค่ไหน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานอย่างเราๆ ว่า พร้อมหรือยัง? เพราะยุคของสมาร์ทโฮมไม่ใช่แค่เรื่องอนาคตอีกต่อไป.
ขอขอบคุณ
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.