“บุหรี่” เสี่ยง “มะเร็งปอด-โรคหัวใจ” และยังอันตรายต่อคนรอบข้าง
คนไทยเสี่ยงกับการได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง โทษของบุหรี่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางตรง และทางอ้อม
ควันบุหรี่ อันตรายทั้งคนสูบ และคนรอบข้าง จาก “ควันบุหรี่มือสอง”
นพ.เอกชัย เสถียรพิทยากุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2018 ระบุไว้ว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกประมาณ 1,100 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ประมาณ 890,000 คนเสียชีวิตจากการสูดดมควันบุหรี่มือสอง
พ่อแม่สูบบุหรี่ ภัยตกถึงลูก
เด็กที่พ่อแม่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของหินปูนในหลอดเลือดแดงหัวใจมากกว่า 4 เท่า และมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบตันมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่
มะเร็งปอด ภัยร้ายที่มากับบุหรี่
พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า ในประเทศไทยมะเร็งปอดพบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง และมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง คือ ไม่ได้สูบเองแต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
อาการเริ่มแรกของมะเร็งปอด
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไอ
- เหนื่อยง่าย
- น้ำหนักลด
- ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร
- ปวดตามตัวหรือกระดูก
ตรวจก่อน ปลอดภัยกว่า
แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack year (คำนวณจากจำนวนซองที่สูบต่อวัน x จำนวนปีที่สูบเช่น 2 ซองต่อวัน 15 ปี = 2x15 = 30 pack year เป็นต้น) หรือผู้ที่เลิกสูบน้อยกว่า 15 ปี เข้ารับการตรวจ Low dose CT Chest (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด) ปีละครั้งเพื่อการค้นหามะเร็งระยะแรก (Lung Cancer Screening) ทำให้พบมะเร็งปอดระยะแรกซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น
วิธีตรวจมะเร็งปอด
ถ้าหากแพทย์ผู้รักษาสงสัยจะส่งตรวจโดยการเจาะเนื้อที่ปอดมาดูเพื่อยืนยันชิ้นเนื้อ หลังยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอด ก็จะมีการทำ CT หรือ PET/CT ร่วมกับ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยระยะของโรค
การรักษามะเร็งปอด
หากเป็นระยะแรกจะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง หากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” จะใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งมีทั้ง เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือ ยากลุ่ม Immunotherapy คือ การให้ยาเพื่อให้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม Cytotoxic T Cell ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ใช้มากขึ้นในมะเร็งหลายชนิด
ถึงแม้การรักษาจะดีขึ้นอัตราการมีชีวิตยาวนานมากขึ้น มะเร็งปอดยังถือเป็นการตายจากมะเร็งอันดับ 1 หากพบมะเร็งปอดระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายได้ ฉะนั้นจึงควรลด ละ เลิกสูบบุหรี่
สูบบุหรี่ เสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด
นอกจากโรคมะเร็งปอดและโรคระบบทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตในผู้ที่สูบบุหรี่ ยังมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 3 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ส่งผลให้เส้นเลือดเกิดความเสื่อมและตีบตันเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10 - 15 ปี ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิงทั่วไปเกือบ 40 เท่า และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มตามจำนวนบุหรี่ที่สูบ อีกทั้งการสูบบุหรี่ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันเลือดสูงขึ้น
สารพิษจากบุหรี่ ทำลายหัวใจ
ที่สำคัญคือ สารพิษในควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ อย่างนิโคติน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหดตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น และสารพิษอีกชนิดที่มีความรุนแรงไม่แพ้กันคือ คาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง กล้ามเนื้อหัวใจจะได้รับออกซิเจนน้อยลง หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นคนที่เลิกสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะเทียบเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และดูแลป้องกันหัวใจให้แข็งแรงคือสิ่งที่ควรตระหนักอยู่เสมอ
เลิกสูบบุหรี่… ไม่ยากอย่างที่คิด
การเลิกสูบบุหรี่นั้นทำได้ไม่ยาก ขอเพียงใจที่มุ่งมั่น เพราะเพียงแค่เลิกสูบบุหรี่เพียงไม่กี่ชั่วโมง อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดจะลดลง สารพิษในร่างกายน้อยลงเช่นกัน โดยมีเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ คือ
- กำจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด
- อย่าเข้าใกล้คนสูบบุหรี่
- เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- จัดการความเครียดด้วยการไม่สูบบุหรี่
- ช่วงแรกที่เลิกสูบบุหรี่อาจรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้าออกลึกๆ ดื่มน้ำให้มากๆ อาบน้ำให้สบายตัว เพื่อลดความหงุดหงิดงุ่นง่าน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เพียงเท่านี้การกลับมามีสุขภาพดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
- โรคติดบุหรี่ กับ วิธีเลิกบุหรี่ที่อยากแนะนำ
- ไขข้อสงสัย! "บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าบุหรี่จริงหรือไม่?
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.