ทาสแมวต้องระวัง! “เชื้อราแมว” โรคผิวหนังจากสัตว์เลี้ยง ติดต่อสู่คนได้
“เชื้อราแมว” เหล่าทาสแมวทั้งที่มีแมวเป็นของตัวเอง และชอบเล่นแมวเพื่อน หรือแมวจรจัดต่างๆ ต้องระวังตัวเองให้มากขึ้น เพราะหากพบว่าแมวเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ทาสแมวอย่างเราอาจได้รับโรคนั้นมาด้วย จนเป็นเหตุให้ต้องพากันไปรักษาทั้งแมวทั้งเจ้าของกันยกใหญ่ และที่ทำให้สาวๆ กลัวมากที่สุด คือรอยดำๆ หลังจากรักษาผื่นแดงหาย ที่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะหาย ทำให้เสียโฉม อดโชว์ผิวสวยๆ กันไปอีกนานเลยทีเดียว
เชื้อราแมว คืออะไร?
จริงๆ แล้ว เชื้อราแมว มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิด Microsporum canis ที่เป็นเชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง เกิดจากความชื้นสะสม ทำให้แมวขนยาวมีความเสี่ยงเป็นเชื้อรามากกว่าแมวขนสั้น บริเวณของผิวหนังแมวที่ติดเชื้อ จะมีขนหลุดเป็นหย่อมๆ ผิวหนังแดง แห้ง และอาจลอกเป็นขุยๆ หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย หากไม่รีบรักษาแล้วเจ้าของติดเชื้อราจากแมวผ่านการสัมผัส อุ้ม ลูบ กอด หอม ก็จะทำให้มนุษย์ติดเชื้อรานี้จนเป็นเหตุให้เป็นโรคผิวหนังในแบบเดียวกันได้
นอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงมีขนอื่นๆ อย่าง สุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ และสัตว์เลี้ยงขนยาวประเภทอื่นๆ ก็สามารถติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ด้วยเช่นเดียวกัน
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อราแมว
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง
- เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ทั้ง หมว แมว และสัตว์มีขนประเภทอื่นๆ
- ชอบเล่นกับสัตว์ต่างๆ และไม่ระมัดระวังความสะอาด เช่น กอด หรือสัมผัสกับสัตว์แล้วไม่ล้างมือ เป็นต้น
อาการของคนที่ติดเชื้อราแมว
จะพบว่ามีผื่นแดงเป็นวงๆ รอบๆ มีขุยๆ ขึ้นตามร่างกาย อาจพบว่าเป็นผื่นแดงๆ อันเล็กๆ หรืออันใหญ่ๆ อันเดียว หรืออาจเกิดขึ้นเป็นวงๆ หลายอันตามแขน ขา ใบหน้า มือ เท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่สัมผัสกับแมว ผื่นแดงๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกคัน อยากเกาตลอดเวลา หากใช้นิ้วเกาที่ผื่นแดง แล้วไปเกาที่ผิวหนังส่วนอื่นต่อ อาจทำให้ผิวหนังส่วนนั้นๆ ติดเชื้อราจนเป็นผื่นแดงเพิ่มขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงอาจทำให้มีผื่นแดงเพิ่มขึ้น หรือผื่นแดงขยายวงกว้างมากขึ้นได้
วิธีรักษาเชื้อราแมวในคน
ปกติแล้ววิธีการรักษาเชื้อราแมว ทั้งในแมว และในคนจะคล้ายๆ กัน นั่นคือการทายาฆ่าเชื้อรา ในกรณีที่มีผื่นแดงไม่มากนัก หากทายาอย่างต่อเนื่องราว 3 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นได้เอง แต่หากพบว่าเป็นผื่นแดงหลายอันทั่วร่างกาย อาจจะให้ยาฆ่าเชื้อราไปทา ควบคู่ไปกับกานทานยาปฏิชีวนะ โดยต้องทายา และทานยาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 สัปดาห์เช่นเดียวกัน
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อผื่นแดงค่อยๆ หายไป แต่จะทิ้งรอยดำเอาไว้ราว 2-3 เดือนจนกว่ารอยดำเหล่านี้จะค่อยๆ จางหายไปเอง ในกรณีที่รอยจำไม่จางลง หรือจางช้า อาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการเกิดผื่นแดงจากเชื้อราซ้ำ เพราะภูมิต้านทานของตัวผู้ป่วยเองไม่มากเพียงพอ รวมไปถึงการรักษาความสะอาด และการดูแลรักษาแมวของตัวเองให้หายขาดจากเชื้อราควบคู่กันไปด้วย หากแมวที่เลี้ยงยังคงเป็นโรคเชื้อราอยู่ เจ้าของที่คลุกคลีใกล้ชิดก็อาจจะกลับมาติดเชื้อราอีกครั้งได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขายยาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังตามร้านขายยาต่างๆ แต่แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียดก่อนซื้อยามาทาเอง เพราะเราอาจเลือกยาทาที่ไม่เหมาะกับโรคที่เรากำลังเป็น หรืออาจเกิดอาหารข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอย่างที่ไม่ทันระวังตัวก็ได้
การป้องกันจากเชื้อราแมว
- หากพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคผิวหนัง มีร่องรอยขนร่วงเป็นหย่อมๆ พบว่ามีผื่นแดง หรือรอยแดงๆ ขุยๆ เป็นวงที่ผิวหนังขิงสัตว์เลี้ยง ควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน และไม่เข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงจนกว่าเชื้อราจะหาย
- หลังเล่น สัมผัส หรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือ หรือทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสสัตว์เลี้ยงให้สะอาดทุกครั้ง (และควรทำความสะอาดทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน)
- ดูแลทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ หลังอาบน้ำเช็ดตัว เป่าขนให้แห้งทุกครั้ง
- ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงสัมผัส เช่น โซฟา เก้าอี้ โต๊ะ หมอน ผ้าห่ม โดยเฟอร์นอเจอร์ที่เป็นผ้าๆ นวมๆ อาจนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อราได้
- ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดมากเกินไป เช่น ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้าเลียปาก พาสัตว์เลี้ยงมานอนด้วยบนเตียงเดียวกัน เป็นต้น
- ใช้แชมพู หรือครีมอาบน้ำที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราให้กับสัตว์เลี้ยง
- นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา
- เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็ควรออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดีอยู่เสมอ จะได้ไม่ติดเชื้อโรคได้ง่ายๆ
- หากสงสัยว่าจะติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง ควรไปพบแพทย์พร้อมนำสัตว์เลี้ยงไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม
- ขนหมา-แมว เข้าปอดจนทำให้เสียชีวิตได้ จริงหรือไม่?
- "หมัดแมว" กัดคน อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.