วิธีสังเกตอาการ “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” หากมีอาการ ควรรีบพบแพทย์

บางคนอาจจะเคยพบเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้กระทั่งวันทำงาน มีอาการผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ควบคุมอวัยวะต่างๆ ลำบาก การพูดการกลืนก็ผิดปกติ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายของโรค "กล้ามเนื้ออ่อนแรง" 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คืออะไร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) คือ จัดเป็นโรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มโรคเสื่อมของเซลล์ควบคุมกล้ามเนื้อ ทั้งในส่วนของสมอง และไขสันหลัง โดยมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบเล็กลงเรื่อยๆ  บริเวณมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนลามไป ทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกล้ามเนื้อกระตุก ต่อมาจะมีอาการพูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจติดขัดและหอบเหนื่อยจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนกระทั่งเสียชีวิต

อาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จะพบอาการเริ่มแรกที่แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งก่อน ร้อยละ 25 ผู้ป่วยที่แสดงอาการครั้งแรกด้วยการกลืนหรือพูดลำบาก ส่วนสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเกิดจากพันธุกรรม  โรคดังกล่าวมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 40-60 ปี

วิธีการสังเกตอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน หรือ ขา หรือมีอาการกลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน ร่วมกับอาการกล้ามเนื้อลีบและกล้ามเนื้อเต้นกระตุก โดยอาการอ่อนแรงจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษา โดยแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยาที่มีประสบการณ์ จะทำการซักประวัติ  ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้า

ทั้งนี้  การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ส่วนยาในปัจจุบันที่มีการยอมรับในวงการแพทย์ ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้มีเพียงยา Riluzole โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งสารกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ชนิดหนึ่งซึ่งถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตายของเซลล์ 

นอกเหนือจากการใช้ยาสำหรับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้ว การให้กำลังใจผู้ป่วยไม่ให้เกิดการท้อแท้และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมและทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรง  เพื่อป้องกันการลีบที่เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนาน ๆ และป้องกันการติดของข้อ การรับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ

หากผู้ป่วยมีปัญหานอนราบไม่ได้หรือเหนื่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจที่บ้าน จะทำให้ผู้ป่วยนอนได้ไม่เหนื่อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.