Virtual Bank ธุรกิจเพื่อล้างหนี้นอกระบบ รับยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank เป็นที่เรียบร้อย เหมือนกับในหลายประเทศที่ทยอยประกาศหลักเกณฑ์ ถึงตอนนี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่งที่สนใจลงทุนในธุรกิจนี้
เป้าหมายของการตั้ง Virtual Bank คือความต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Virtual Bank กับธนาคารดั้งเดิม จึงเป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน
เพจด้านเทคโนโลยีไอทีเริ่มปูความรู้มาตั้งแต่ปีที่แล้วตอนที่ Virtual bank เริ่มตั้งไข่ ยามนี้คลอดเป็นตัวแล้วจึงเรียบเรียงมาเพื่อความเข้าใจง่าย เพื่อว่าเราจะได้เตาะแตะไปด้วยกัน ในวันที่โลกหมุนเข้าสู่ยุคธุรกิจดิจิทัลเต็มตัวแล้ว
Virtual Bank เป็นธุรกิจที่ให้บริการธุรกรรมการเงินและการลงทุน ต่างจากธนาคารแบบเดิมตรงที่ไม่มีสำนักงานสาขา (แต่มีสำนักงานใหญ่) เมื่อไม่มีสาขาก็ไม่มีพนักงานคอยให้ความรู้คำแนะนำ กระทรวงการคลังจึงกำหนดให้ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล เชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก อาทิ พฤติกรรมการใช้จ่าย มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้อย่างครบวงจร และมีความเหมาะสม
กลุ่มเป้าหมายของ Virtual Bank เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กับธุรกิจประเภท micro SMEs ที่คุ้นเคยกับธุรกรรมดิจิทัล สองกลุ่มนี้ ธนาคารพาณิชย์แบบเดิมไม่ค่อยให้ความสนใจ เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ หรือได้รับบริการก็จริง แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ โปรดักส์การเงินไม่หลากหลาย (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้นอกระบบ) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ถ้าเป็น mass ก็คือลูกค้ารายย่อยทั่วไป กับลูกค้ารายใหญ่
Virtual Bank เริ่มใช้ในต่างประเทศมาพักหนึ่งแล้ว ฮ่องกงเปิดตัว Virtual Banking ตั้งแต่ปี 2019 และเริ่มดำเนินการในปี 2022 ตอนนี้มีธุรกิจ Virtual Bank มากที่สุดในเอเชียคือ 8 แห่ง เกาหลีใต้ มีลูกค้าประมาณ 17 ล้านคน เสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าแบงค์รูปแบบเดิม ธุรกรรมทุกอย่างไม่มีค่าธรรมเนียม ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน
ขณะที่สหราชอาณาจักร มีฐานลูกค้าเกือบ 3 ล้านคน พุ่งเป้าธุรกิจไซส์ไมโครกับประชาชนทั่วไป ดึงดูดด้วยการออกโปรดักส์และบริการการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ด้วยแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย การทำธุรกรรมการเงินผ่านต่างประเทศก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม แม้กลุ่มลูกค้าจะต่างกัน แต่การเกิด Virtual Bank น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมต้องลุกขึ้นปรับตัว พัฒนานวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันในน่านน้ำใหม่นี้ได้
บริการ Virtual Bank เป็นอย่างไร?
- ไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM แต่มีสำนักงานใหญ่
- ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
- เปิดบัญชีได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟน
- มีบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก เจ้าของบัญชีสามารถแบ่งบัญชีเป็นบัญชีย่อยได้ ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน
- มี AI ให้คำนแนะในการใช้จ่าย ให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี
- ยืดหยุ่นกว่าธนาคารแบบเดิม มีนวัตกรรมทางการเงินที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว
- ให้สินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว
- บัญชีเงินฝากจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน
- มีบริการสำหรับ SMEs รายย่อย เช่น การเชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์
- ต้นทุนการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม จึงไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม
อีกอย่างที่เราอาจสงสัยคือ Virtual Bank เป็นการลงทุนของธนาคารรูปแบบเดิมหรือเปล่า?
ตำตอบคือ ไม่จำเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดกว้างให้กับกลุ่มในภาคการเงิน ทั้ง bank และ non-bank กับกลุ่มนอกภาคการเงิน เช่น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ BigTech กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech และกลุ่มกิจการค้าร่วม (consortium) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทุกกลุ่มสามารถขอตั้ง Virtual Bank ได้ด้วยคุณสมบัติเดียวกัน
คุณสมบัติของผู้ลงทุน Virtual Bank
- มี business model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน
- มีธรรมาภิบาล และวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงที่ดี
- มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล
- มีเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
- สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย
- สามารถบริหารความเสี่ยงจากธุรกิจการเงินได้
- มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนด้านการเงินให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
- ไม่อนุญาตให้จัดตั้งสาขา ไม่มี ATM/CDM ของตนเอง
- สามารถให้บริการรับฝากเงินและถอนเงิน ผ่านตัวแทนทางการเงิน (banking agent) หรือเครือข่ายของผู้ให้บริการอื่น เช่น ATM pool ได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้ขอใบอนุญาตตั้ง Virtual Bank ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 19 กันยายน 2567 และเริ่มจัดตั้งได้ในช่วงกลางปี 2568 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่า ธปท. น่าจะให้มีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งไม่เกิน 3 ราย เพื่อเป็นการนำร่อง กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม Virtual Bank เป็นเรื่องใหม่สุดๆ ในบ้านเรา (และอีกหลายประเทศ) ความกังวลเรื่องนี้จึงช่วยไม่ได้ที่จะโยงกับมิจฉาชีพออนไลน์ที่ลุกลามอยู่ทุกวันนี้ ความท้าทายของ Virtual Bank จึงเป็นเรื่องการสร้างความน่าเชื่อ การดึงดูดลูกค้าใหม่ในประเด็นเรื่องการบริหารหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม...
นักบริหารหนี้ยุคใหม่ หวังใจให้เป็นเช่นนั้น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.