ประวัติวันสงกรานต์ กิจกรรมประเพณีการทำบุญในวันสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในชีวิตของคนคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนไทยมาช้านาน การ ย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง จะเป็นราศีใดก็ได้ แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน เท่านั้น
ความหมายของคำว่า "สงกรานต์"
"สงกรานต์" เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้ายเข้าไป" ในที่นี้หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ ผ่านหรือเคลื่อนย้าย จากราศีมีน เข้าสู่ ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้าย ในช่วงเดือนอื่น ๆ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา ตามปกตินั้น พระอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่งเป็นประจำทุกเดือน หรือจะเรียกว่าเป็นการย้ายจากกลุ่มดาวหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง ตามหลักโหราศาสตร์หรือภาษาโหร เรียกว่า"ยกขึ้นสู่" ตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ ก็คือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไปนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ สงกรานต์ แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป วันสงกรานต์ จึงต้องมีอยู่ประจำทุกเดือน เพราะดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปเดือนละ 1 ครั้ง เสมอ
แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ (ตามภาษาโหร) หรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ในเดือน เมษายน (ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5) เราถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ด้วยถือกันว่าเป็นวันและแวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของโหรผู้รู้ทางโหราศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี สมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ เนื่องจาก หากนับทางจันทรคติ จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ หรือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษนั่นเอง
และได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทย แต่นั้นเรื่อย มาแม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ (หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน ไปสู่ราศีเมษ) ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป
วันสงกรานต์
ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นเรายังถือเอาวันที่ 14 เมษายนเป็น "วันครอบครัว" อีกด้วย
และเมื่อถึงเดือน 5 ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปี เราเรียกวันนี้ว่า " วันสงกรานต์ " ประเพณีไทยเดิมถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ธรรมเนียมไทยเราก็จะมีการเล่น รื่นเริง มีการรดน้ำดำหัวโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ จะสนุกกันเต็มที่เล่นสาดน้ำกันโดยไม่ถือเนื้อถือตัวเลย ในชนบทหลายแห่ง มีการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน อนึ่งวันนี้บางแห่งจะเริ่มจากวันที่ ๑๓ เมษายน และมีการเล่นสนุกสนานไปราว ๆ ๑ สัปดาห์ หรือกว่านั้น แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระยะนี้จะมีการนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือและทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์สมภารเจ้าวัด สรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่าที่มีตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
ประวัติวันสงกรานต์
กำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา น่าจดจำไว้ดังข้อความจารึกวัดเชตุพน ฯ ได้กล่าวไว้ประดับความรู้ของสาธุชนทั้งหลายดังต่อไปนี้
" ....เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร ๒ คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะ เหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็จะ อันตรธานไปหมด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง ๒ คน และ รูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลง สุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง ๓ ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา
เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทรืมิได้ดังปรารถนาแล้วอยู่มาวันหนึ่ง ถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส ( เดือน ๕ ) โลกสมมุติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวาร ไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชา รุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี
พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้น ให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเพทเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ ชาวชมพูทวีปทั้งปวงซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดง มงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง
เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมาร 3 ข้อ ความว่า
- เวลาเช้า สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
- เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
- เวลาเย็น สิริราศีอยู่ที่ไหน
และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา ๓ ข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาไป ๗ วัน กบิลพรหมก็กลับไปยัง พรหมโลก
ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 วันแล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไป ซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนที่ต้นตาล ๒ ต้น ซึ่งมีนกอินทรี ๒ ตนผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เรา จะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ ๗ วันที่ท้าวกบิลพรหม ถามปัญหาแก่ธรรมบาล กุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้ง ๒ จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่าท่านรู้ปัญหาหรือ ? ผู้ผัวตอบว่ารู้แล้วก็เล่าให้นาง นกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า
- เวลาเช้าราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
- เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก
- เวลาเย็นราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน
ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ ๗ ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง ๓ข้อตามที่นัด หมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหม ยอมรับว่าถูกต้องและยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่ จะตัดศีรษะ ได้ตัดเรียกธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ
- นางทุงษะเทวี
- นางรากษเทวี
- นางโคราคเทวี
- นางกิริณีเทวี
- นางมณฑาเทวี
- นางกิมิทาเทวี
- นางมโหธรเทวี
>> คลิกอ่าน ประวัตินางสงกรานต์ทั้ง 7 นางที่นี่
อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน แล้วจึงบอกเรื่องราว ให้ทราบและตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้น ไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง ๗ จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหม ก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก
เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้วก็ ให้เทพบรรษัท แห่ประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช ๖๐ นาทีแล้วจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาศ กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิษณุกรรมเทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปด้วย แก้ว ๗ ประการ ชื่อภัควดีให้เทพธิดาและนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์นางเทพธิดาทั้ง ๗ ก็ทรงเทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา เชิญพระเศียรกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิ ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ราชบรรษัท ทุกๆ ปีแล้วกลับไปยังเทวโลก... "
กิจกรรมวันสงกรานต์
แม้ เราจะถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีมใหม่ตามหลักสากล แต่ธรรมเนียมไทยยังให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์อยู่ โดยถือเอาเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบไทย ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์การตระเตรียมทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน และเตรียมข้าวของที่จะทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตรและการสร้างกุศลด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา
สมัยโบราณ เมื่อถึงวันสงกรานต์ประชาชนจะพากันตื่นแต่เช้ามืด เตรียมหุงข้าวต้มแกง เพื่อนำไปทำบุญที่วัด ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส โดยเฉพาะหนุ่มสาวเพราะจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันได้อย่างสะดวก แต่ก็ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
เมื่อทำบุญตักบาตรหรือเลี้ยงพระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเป็นการขนทรายเข้าวัดสำหรับไว้ใช้ในงานก่อสร้างโบสถ์วิหาร มีการปล่อยนกปล่อยปลาซึ่งเท่ากับเป็นการแพร่ขยายพันธ์สัตว์ให้คงอยู่ไปชั่ว ลูกชั่วหลาน และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการสรงน้ำพระการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปจนถึงการเล่นสาดน้ำกันเองในหมู่หนุ่มสาว
การสรงน้ำพระพุทธรูป, การสรงน้ำพระสงฆ์
ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล บางแห่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่แหนไปรอบๆหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึงหรือจะอัญเชิญพระพุทธรูปจาก หิ้งบูชาในบ้านมาทำพิธีสรงน้ำกันในหมู่ญาติพี่น้องก็ได้
ชาวบ้านจะได้ไปชุมนุมกันที่วัด นิมนต์พระในวัดมายังสถานที่ประกอบพิธี การรดน้ำควรรดที่มิอของท่าน ไม่ควรตักราดเหมือนกับเป็นการอาบน้ำจริง ๆ เพราะพระสงฆ์ถือเป็นเพชที่สูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำฝนหรือน้ำสะอาดผสมน้ำอบไทย เมื่อสรงน้ำแล้วพระท่านก็จะให้ศีลให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล
การรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ
การรดน้ำผู้ใหญ่ หากระทำกันเองในบ้าน ลูกหลานจะเชิญพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ มานั่งในที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบน้ำหอมผสมน้ำมารดให้ท่าน อาจรดที่มือหรือรดทั้งตัวไปเลยก็มีในระหว่างที่รดน้ำท่านก็ให้พรแก่ลูกหลาน เสร็จพิธีแล้วจึงผลัดนุ่งผ้าใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ส่วนใหญ่จะมีผ้าใหว้เช่นเสื้อผ้าและผ้าขาวม้าไปมอบให้ด้วย การรดน้ำส่วนใหญ่จะรดที่มือ ขอศีลขอพร เป็นการแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มีพระคุณตามธรรมเนียมอันดีของไทย บางหมู่บ้านอาจเชิญคนแก่คนเฒ่ามารวมกัน แล้วให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทำพิธีรดน้ำขอพร ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามที่ควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้
การเล่นสาดน้ำสำหรับหนุ่มสาว
หลังจากทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว พวกหนุ่ม ๆสาวๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งน้ำที่ใช้นำมาสาดกันนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดผสมน้ำอบมีกลิ่นหอม เด็กบางคนไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมถึงจุดประสงค์ของการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ เอาน้ำผสมสีหรือผสมเมล็ดแมงลัก แล้วนำไปสาดผู้อื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง สถานที่เล่นสาดน้ำสวนใหญ่เป็นลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหนื่อยก็จะมีขนมและอาหารเลี้ยง ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเรี่ยไรออกเงินและช่วยกันทำไว้ จนถึงตอนเย็นจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วมาชุมนุมกันที่ลาดวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมการละเล่นพื้นเมือง
การละเล่นพื้นบ้านในวันสงกรานต์
การละเล่นพื้นบ้านหรือจะเรียกว่ากีฬาพื้นเมืองก็ได้ เป็นเกมที่สร้างความสนุกสนานสามัคคี และความใกล้ชิดผูกพันพวกหนุ่ม ๆสาว ๆ จะแบ่งกันเป็นสองฝ่าย จัดทีมเพื่อเล่นแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม มีผู้ใหญ่เป็นกรรมการหรือผู้ควบคุม ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่วงนอก
การละเล่นที่นิยมนำมาเล่นกันในงานสงกรานต์ มีหลายอย่าง เช่น ชักเย่อ ไม้หึ่ง งูกินหาง ช่วงชัย วิ่งเปี้ยว เขย่งแตะ หลับตาตีหม้อ มอญซ่อนผ้า สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก ฯลฯ นอกจากนั้นมีการเล่นเพลงยาว ลำตัด รำวง ฯลฯ การประกวดนางสงกรานต์ซึ่งแต่ละกิจกรรมร่วมสร้างความสนุกสนานเป็นกันเอง หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน ได้ศึกษาดูนิสัยใจคอ ได้มีโอกาสพูดจาโอภาปราศรัยกัน
ประเพณีการทำบุญและการละเล่นในวันสงกรานต์แต่ละท้องถิ่นอาจ มีผิดแตกต่างกันไปบ้างตามความและยุคสมัยในชนบทอาจกำหนดวันทำบุญและวันสรงน้ำ พระไม่ตรงกันในแต่ละหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้ พวกหนุ่ม ๆจึงมีโอกาสไปเล่นสงกรานต์ได้หลายแห่งในแต่ละปี วันสงกรานต์จึงถือเป็นประเพณีหนึ่งในหลาย ๆ ประเพณีของไทยแต่โบราณ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่หรือดูอุปนิสัยใจคอกันโดยเปิดเผยโดยไม่ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต่อสายตาผู้ใหญ่
ความสำคัญของวันสงกรานต์
- เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประเพณีไทย และถือเป็นวันหยุดประกอบการงานหรือธุรกิจทั่วไป
- เป็นวันทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระบังสกุลกระดูกพรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
- เป็น วันแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ในวันนี้จะมีการไปรดน้ำดำหัวขอพรจาก พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ วันสงกรานต์ถือเป็น วันสูงอายุแห่งชาติ
- เป็นวันรวมญาติมิตรที่จากไปอยู่แดนไกลเพื่อประกอบภาระ หน้าที่งานอาชีพของตน เมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะกลับมาร่วมทำบุญสร้างกุศล จึงถือเอาวันที่ 15 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงสงกรานต์เป็นวันรวมญาติหรือวันครอบครัว
- เป็นวันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมการละเล่นตามประเพณีไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร เล่นสาดน้ำ ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้า ฯลฯ
- เป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น มีการทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ บังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ขนทรายเข้าวัด (ก่อพระเจดีย์ทราย ) รับศีล ปฏิบัติธรรมฯลฯ
“13” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “สงกรานต์”
จะเห็นได้ว่า “ประเพณีสงกรานต์” เป็นประเพณีที่สืบทอดปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างว่าทำไมถึงเกิดเป็น “เทศกาลสงกรานต์” อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่รู้หรือไม่ ? ในสิ่งที่เรารู้ ย่อมต้องมีสิ่งที่เราไม่รู้แฝงอยู่ด้วย วันนี้เราจะพามาดูภาพรวมกันว่า 13 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์นั้นมีอะไรกันบ้าง
โดยปกติแล้วในวันสงกรานต์สิ่งที่คนไทยมักจะทำกันเป็นกิจวัตรประจำทุกปี ได้แก่ การทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ การทำความสะอาดบ้านเรือน และการเล่นสงกรานต์สาดน้ำกันเพื่อนสร้างความชุ่มเย็นให้กับร่างกาย ดังจะเห็นได้จากตามพื้นที่ ตามจังหวัดต่างๆ แต่สงกรานต์ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกดังนี้ิ
1. สมัยก่อน “วันปีใหม่ไทย” ไม่ได้ตรงกับวันสงกรานต์ ในสมัยโบราณ เราได้ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เป็น “วันปีใหม่ไทย” ก่อนที่เราจะเปลี่ยนมาถือเอาวันสงกรานต์นั้นเป็นวันปีใหม่ไทยแทน
2. ไม่ใช่แค่ชาวไทยที่มีประเพณีสงกรานต์เท่านั้น แต่ชนชาติอื่นๆ ก็ยังมีเหมือนกัน นอกจากชาวไทยที่มีประเพณีสงกรานต์แล้ว ชนชาติอื่นอย่าง พม่า มอญ ลาว หรือแม้แต่ชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆ ที่เป็นส่วนน้อยในจีน อินเดีย ล้วนแต่ก็มีประเพณีสงกรานต์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานเช่นเดียวกัน และถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของพวกเขาด้วยเช่นกัน
3. ภาคกลางเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” จากนั้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้ในวันนี้เป็น “วันครอบครัว” อีกด้วย ส่วนในวันที่ 15 เมษายน คือ “วันเถลิงศก” เป็นวันเริ่มต้นจุลศักราชใหม่
4. ภาคเหนือ หรือทางล้านนาเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น “วันสังขารล่อง” “วันสังขารล่อง” ผู้หลักผู้ใหญ่ทางภาคเหนือ หรือทางล้านนาได้ให้ความหมายของวันนี้ว่าเป็นวันสิ้นอายุไปอีกปี ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันที่ชาวล้านนาเชื่อกันว่าห้ามพูดจาหยาบคาย มิเช่นนั้นปากจะเน่าและชีวิตจะไม่เจริญรุ่งเรืองไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน” เป็นวันเปลี่ยนศกใหม่
5. ภาคใต้เรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าเป็น “วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยในวันที่ 13 นี้ ชาวภาคใต้เชื่อกันว่าจะเป็นวันที่เทวดาที่คอยปกปักรักษาบ้านเมืองจะเดินทางกลับไปชุมนุมที่สวรรค์ ในวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ไร้ซึ่งเทวดารักษาบ้านเมือง เพราะฉะนั้นในวันนี้ชาวบ้านจะงดงานอาชีพต่างๆ เพื่อเดินทางไปทำบุญที่วัด ส่วนในวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เป็นการต้อนรับเทวดาองค์ที่ลงมาปกปักรักษาบ้านเมืองแทนเทวดาองค์เดิมที่ได้ย้ายไปประจำยังเมืองอื่นแล้ว
6. ตำนานสงกรานต์ที่ถูกจารึก ตำนานสงกรานต์ ก็คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีวันสงกรานต์ รวมถึงนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงในแผ่นศิลา 7 แผ่น แปะประดับไว้ที่ศาลารอบมณฑบทิศเหนือในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
7. นางสงกรานต์ คือ นางฟ้าที่กำเนิดในชั้นจตุมหาราชิกา นางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ เป็นพี่น้องกัน กำเนิดอยู่ในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกาซึ่งเป็นชั้นต่ำที่สุด โดยทั้ง 7 ล้วนแต่บาทบริจาริกาของ “พระอินทร์” หรือถ้าในเทียบในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกับนางบำเรอของจอมเทวราช อีกทั้งทั้ง 7 ยังเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมตามตำนานอีกด้วย
8. นางสงกรานต์นามตามวันในแต่ละสัปดาห์
- นาง ทุงษะเทวี ประจำ วันอาทิตย์
- นาง โคราคเทวี ประจำ วันจันทร์
- นาง รากษสเทวี ประจำ วันอังคาร
- นาง มณฑา ประจำ วันพุธ
- นาง กิริณี ประจำ วันพฤหัสบดี
- นาง กิมิทา ประจำ วันศุกร์
- นาง มโทร ประจำ วันเสาร์
9. นางสงกรานต์แต่ละองค์มีพาหนะคู่กายที่ไม่เหมือนกัน พาหนะคู่กายของนางสงกรานต์จะต่างกันไปตามลำดับวันในสัปดาห์ ได้แก่ นาง ทุงษะ ขี่ครุฑ, นาง โคราค ขี่เสือ, นาง รากษสขี่หมู, นาง มณฑา ขี่ลา, นาง กิริณี ขี่ช้าง, นาง กิมิทา ขี่ควาย, นาง มโหทร ขี่นกยูง ซึ่งสัตว์ประจำนางสงกรานต์จะไม่ได้เป็นไปตามปีนักษัตรนั้นๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
10. นางสงกรานต์ประจำแต่ละปี คลิกอ่าน ประวัตินางสงกรานต์
11. รู้หรือเปล่า ? คำว่า “ดำหัว” แปลว่า “สระผม” ถ้าให้แปลตรงตามตัว คำว่า “ดำหัว” นั้น หมายถึง การสระผม แต่ในความหมายของทางล้านนาแล้ว การ “ดำหัว” อาจหมายถึง การเดินทางไปขออโหสิกรรมในสิ่งที่เรากระทำผิด สิ่งที่ได้ล่วงเกินในช่วงเวลาที่มา มีการขอพรเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต จากญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส หรือครูบาอาจารย์
12. ในวันสงกรานต์จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งกำเนิดขึ้น ข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า “ตัวสงกรานต์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายไส้เดือน เล็กเท่าเส้นด้ายประมาณ 2 นิ้ว มีสีสะท้อนเมื่อต้องกับแสง มีความสามารถเปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ มักอยู่รวมกันเป็นฝูง จะท้อนเป็นแสงสีสวยงาม เมื่อจับขึ้นพ้นน้ำ สีเหล่านั้นจะหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆ และเหลวละลาย ปัจจุบันเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
13. ที่มาของการก่อเจดีย์ทราย การก่อเจดีย์ทรายมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในมัยก่อน “พระเจ้าปเสนทิโกศล” ได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมด้วยบริวาร พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ จึงเกิดจิตศรัทธาก่อทรายขึ้นเป็นเจดีย์ทั้งสิ้น 8 หมื่น 4 พันองค์เพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา ซึ่งเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงทูลถามอานิสงส์ของการสร้งเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสรับว่า การที่มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาก่อสร้างเจดีย์ทราย 8 หมื่น 4 พันองค์ หรือแม้แต่องค์เดียวก็จะได้รับอานิสงส์มาก จะไม่ตกนรกหลายร้อยขุม หากเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ เงิน ทอง เมื่อตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ จึงเป็นที่มา
อ่านเพิ่มเติม
- วันครอบครัว 14 เมษายนของทุกปี ประวัติวันครอบครัว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.