"ฝีดาษลิง" กับ 7 ข้อควรรู้ที่หลายคนอาจเข้าใจผิด

  • โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในลิงซึ่งถูกพบตั้งแต่ 64 ปีที่แล้วใน ค.ศ. 1958 ครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลอง
  • พบมนุษย์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของโลกในปี ค.ศ. 1970 เป็นเด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบ จากประเทศคองโก หลังจากนั้นก็พบเคสที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมาเรื่อยๆ โดยเคสส่วนใหญ่พบตามแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง

หลายคนคงจะได้ข่าวเกี่ยวกับ ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus (MPXV) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ฝีดาษวานร มาสักพักแล้วที่อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาต่อจากโควิด-19 และมาพร้อมๆ กันในหลายประเทศ โดย ณ ขณะนี้ (ข้อมูลอัพเดทวันที่ 9มิถุนายน พ.ศ. 2565) มีรายงานเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วกว่า 900 เคส โดยพบว่าเคสส่วนใหญ่พบในแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ สเปน สวีเดน อิตาลี เบลเยียม โปรตุเกส หรือแม้กระทั่งแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานเพิ่มจำนวนเคสมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายรัฐด้วยกัน พร้อมกันนั้นก็มีข่าวลือ ข้อสงสัยเกี่ยวกับฝีดาษลิงออกมามากมายในโลกโซเชียล ทำให้หลายคนเป็นกังวลและเริ่มให้ความสนใจกับฝีดาษลิงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจาก คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คกก.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศเพิ่ม “ฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

Sarakadee Lite ขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับฝีดาษลิงอีกครั้ง กับหลายๆ เรื่องที่หลายคนสงสัยและยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝีดาษลิง

"ฝีดาษลิง" กับ 7 ข้อควรรู้ที่หลายคนอาจเข้าใจผิด

ภาพตัดขวางจากชิ้นส่วนผิวหนังของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox) จากการแพร่ระบาดในปี ค.ศ. 2003 ด้านซ้าย (รูปไข่รี ๆ สีเทาเข้ม) เป็นไวรัสที่โตเต็มวัย ส่วนด้านขวารูปร่างกลม มีวงสีเทาเข้ม ด้านในสีเทาอ่อน เป็นไวรัสที่ยังไม่โตเต็มวัย (ภาพ : Cynthia S. Goldsmith, Russell Regnery )

  1. จริงหรือที่ Monkeypox Virus หรือ ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่

โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในลิงซึ่งถูกพบตั้งแต่ 64 ปีที่แล้วใน ค.ศ. 1958 ครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลอง และพบมนุษย์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของโลกในปี ค.ศ. 1970 เป็นเด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบ จากประเทศคองโก หลังจากนั้นก็พบเคสที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมาเรื่อยๆ โดยเคสส่วนใหญ่พบตามแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง จนกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในแถบนั้นในที่สุด

  1. ไวรัส Monkeypox จะมีโอกาสพัฒนากลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่หรือไม่เมื่อเทียบกับไวรัส SARS-CoV-2 (ไวรัสก่อโรคโควิด-19) และ Influenza (ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่)

Monkeypox เป็นไวรัสชนิด DNA ซึ่งปกติจะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่น้อยหากเปรียบเทียบกับไวรัสชนิดที่มีสารพันธุกรรมเป็นRNA อย่าง SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 และInfluenza ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ และด้วยความที่ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในตระกูลฝีดาษ(Poxvirus) อย่างไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง เป็นเชื้อที่ไม่ต้องการโปรตีนReceptor (โปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์มนุษย์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นประตูเข้าสู่ในเซลล์) ที่จำเพาะในการติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ซึ่งต่างกับ SARS-CoV-2 ที่ต้องอาศัยโปรตีน Receptor ที่ชื่อว่า ACE2 ในขณะที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ต้องอาศัย Receptor ที่ชื่อว่า Sialic acid เพื่อจับกับโปรตีนของไวรัสที่ชื่อว่า Hemagglutininในการเข้าสู่เซลล์เยื่อบุของเซลล์มนุษย์

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบอัตราการกลายพันธุ์ของไวรัส Monkeypox ที่สูงขึ้นและอาจเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้แพร่จากคนสู่คนได้ดีกว่าปกติ แถมยังมีระยะฟักตัวนาน ไม่แสดงอาการ ทำให้คนที่ติดเชื้อเดินทางออกนอกบ้านและแพร่ไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ซึ่งนั่นแปลว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ยังคงต้องจับตามองและทำการศึกษาวิจัยไวรัส Monkeypox กันต่อไปเพื่อเฝ้าสังเกตว่าการกลายพันธุ์ของไวรัส Monkeypox ครั้งนี้จะทำให้ไวรัสแข็งแกร่งขึ้นและแพร่ระบาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วอย่างโควิด-19 หรือไม่

ทั้งนี้ล่าสุดมีข้อมูลรายงานจากห้องปฏิบัติการว่าเมื่อนักวิจัยเอารหัสพันธุกรรมของ Monkeypox จากเคสที่พบล่าสุดในประเทศเบลเยียม มาเปรียบเทียบกับ Monkeypox สายพันธุ์ที่เคยเจอในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2018 (โดยเคสนี้เป็นเคสที่ติดจากคนที่เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย) พบว่ารหัสพันธุกรรมมีความคล้ายคลึงกันสูงมาก แต่ทางนักวิจัยเองก็ยังไม่อยากด่วนสรุปว่า ตัว Monkeypox ที่กำลังระบาดอยู่นี้มีวิวัฒนาการไปจากสายพันธุ์เดิมอย่างไรบ้าง ในรายละเอียดคงต้องมีการศึกษาวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมฉบับสมบูรณ์ (Full Genome Sequencing) ของหลายๆ เคส และจากหลายๆ แหล่งการแพร่ระบาดกันต่อไป เพราะเพียงแค่การกลายพันธุ์ (Mutation) ตำแหน่งเดียว ก็อาจมีผลทำให้ไวรัสแบ่งตัวและแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมมาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่ยังต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สยองขวัญเขย่าโลกซ้ำแบบโควิด-19 อีก

  1. ฝีดาษลิงติดต่อทางเพศสัมพันธ์จริงหรือ

โดยปกติแล้วฝีดาษลิงเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด (มากๆ ) กับผู้ติดเชื้อ โดยโอกาสจะติดได้หลักๆ มาจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted)ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนรอยโรคหรือสารคัดหลั่ง การใช้เสื้อผ้า การนอนที่นอนร่วมกัน (Direct Contact) โดยกว่า 60 เคสที่พบจากสเปน มาจากการใช้ห้องเซานาเดียวกัน (Prolonged Close Contact) นอกจากนี้ ฝีดาษลิงยังสามารถติดกันได้ผ่านการหายใจ แต่โอกาสติดผ่านทางการหายใจยังน้อยมาก เพราะตัวเชื้อเองจะแพร่ไปได้ไม่ไกล ดังนั้นต้องอาศัยความใกล้ชิดในระยะเวลาหนึ่งถึงจะติดเจ้าไวรัสฝีดาษลิงตัวนี้ได้

  1. อาการแบบไหนที่บอกว่าเป็นฝีดาษลิงไม่ใช่ไข้หวัด

เมื่อเชื้อไวรัสMonkeypoxเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวค่อนข้างนาน อยู่ในส่วนของไซโทพลาซึม (Cytoplasm) ของเซลล์มนุษย์ และมีความเสถียรมากพอควรที่จะไม่สลายตัวง่ายเหมือนไวรัสชนิด RNA โดยระยะเวลาฟักตัวของเชื้อไวรัส Monkeypox จะอยู่ประมาณ 5-21 วันช่วงระยะเวลานี้อาการเบื้องต้นแทบไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่คือมีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียและบางรายมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยหลังจากนั้นจะมีผื่นเป็นตุ่มๆ ขึ้นตามใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้าซึ่งในระยะที่ปรากฏรอยโรคนี้จะแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย จะมีอาการคล้ายคลึงกับอีสุกอีใสมาก แต่ในอีสุกอีใสจะไม่พบอาการต่อมน้ำเหลืองโต ดังนั้นหากมีอาการน่าสงสัยควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

  1. ฝีดาษลิงน่ากลัวไหม ติดแล้วจะมีอาการรุนแรงถึงตายหรือเปล่า

ตามรายงานแล้วเคสส่วนใหญ่ที่เจอไม่ได้ถึงขั้นที่ต้องแอดมิตนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในเคสที่มีอาการรุนแรงมักจะพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งในการรักษาก็สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ยาไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) เป็นต้น

สำหรับ วัคซีนฝีดาษคน (Smallpox Vaccine) สามารถช่วยป้องกัน Monkeypox และไวรัสในตระกูล Poxตัวอื่นๆ ได้เช่นกันอย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าภูมิจากวัคซีนฝีดาษคนจะมีระดับการป้องกันฝีดาษลิงได้ดีมากน้อยแค่ไหนในกรณีของคนที่ฉีดมามากกว่า 50-60 ปีแล้วเพราะปกติภูมิคุ้มกันส่วนมากจะอยู่ในร่างกายคนได้ระยะเวลาหนึ่ง จะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกครั้งเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะยังคงมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม

  1. อะไรที่เป็นความน่ากลัวของฝีดาษลิงในขณะนี้

ในความคิดเห็นของทางผู้เขียนเองนั้น คิดว่าความน่ากลัวของฝีดาษลิงในตอนนี้ก็น่าจะเป็นความล่าช้าในการตรวจเจอเคส เนื่องด้วยอาการที่คล้ายคลึงกับเคสที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้นำ ซึ่งอาจจะกลายเป็นว่ากว่าจะรู้ว่าเป็นฝีดาษลิงก็อาจจะแพร่ไปให้คนอื่นมากมายแล้ว อีกทั้งฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดขึ้นน้อย (Rare Disease) ในแล็บทั่วไปอาจจะยังไม่มีการตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส Monkeypox ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเคสที่เจอที่เบลเยียม ซึ่งทางแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นไปว่าเป็นโรคเริมซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes Simplex Virus (HSV) และซิฟิลิส (Syphilis) ก่อนที่จะเรียกตัวผู้ป่วยกลับมาตรวจเทสต์ที่จำเพาะต่อ​ไวรัสฝีดาษลิงก็ตอนที่เริ่มมีประกาศจากทาง EU ว่ามีการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงเมื่อไม่นานมานี้เอง

  1. การระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีการใช้ไวรัสลิงชิมแปนซี (ที่ตัดต่อพันธุกรรม) มาทำวัคซีนโควิด-19 (Chimpanzee Adenovirus Vaccine) หรือไม่

มีการเข้าใจผิดกันมากในโลกโซเชียลถึงการเชื่อมโยง Monkeypox กับ Chimpanzee Adenovirusซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วนั้น ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องของรหัสพันธุกรรมหรือการก่อโรคของไวรัสเองก็ตาม และที่สำคัญ Chimpanzee Adenovirus ที่ใช้ในการทำวัคซีนมีการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อไม่ให้มีการแบ่งตัวเมื่อเข้าสู่เซลล์มนุษย์ กล่าวคือ Chimpanzee Adenovirus ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ “พาหนะ” ที่นำวัคซีนเข้าสู่เซลล์มนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรคใดๆ เลย ทางผู้เขียนเองก็เคยอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้ถึงหลักการของวัคซีนโควิด-19 ด้วยการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน อาจต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้ดี มีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจากหลายแหล่งที่น่าเชื่อถือ มิฉะนั้นอาจได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้

ต่อจากนี้ Monkeypox หรือ ฝีดาษลิง ก็คงไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นน้อย (Rare disease) อย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้ว เนื่องจากการระบาดไปในหลายๆ ประเทศ และจำนวนเคสที่เริ่มมีการรายงานเพิ่มขึ้นในทุกวัน ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆ ควรมีการเร่งตรวจสอบ และกักตัวบุคคลที่มีความเสี่ยง หรือมีความเกี่ยวโยงกับคนที่ติดเชื้อก่อนที่จะมีการระบาดออกไปในวงกว้าง (เราควรเรียนรู้จากโรคโควิด-19 ที่ควรจะมีมาตรการป้องกันก่อนจะเกิดอุบัติการณ์อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตามจากผลวิจัยเบื้องต้นก็ทำให้ทราบว่าการระบาดที่เกิดในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวที่เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ซึ่งก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่เจอในปี ค.ศ.2018 และเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจาก Super-spread อีเวนต์ใดสักแห่งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 และหลังจากที่ผู้คนพากันแยกย้ายก็ไปแพร่ระบาดตามถิ่นฐานของตัวเอง จนกลายเป็นการแพร่ระบาดในหลายประเทศครั้งนี้

ทางผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่าการเป็นที่สนใจของ Monkeypox ในครั้งนี้จะส่งผลให้มีการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีมีการแยกคนติดเชื้อ (Isolate) ออกมาเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อไปให้ได้เร็วที่สุด และหยุดการระบาดลงได้อย่างทันท่วงที พวกเราทุกคนคงไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบโควิด-19 อีก ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่เนืองๆ โลกของเราเหมือนเพิ่งโดนระเบิดลูกใหญ่ เกิดความเสียหายระยะยาวหลายๆ ด้าน ยากที่จะฟื้นฟู แต่อย่างน้อยเราก็ควรจะได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วบ้าง กันไว้ดีกว่าแก้… เพราะแย่แล้วอาจจะแก้ไม่ทัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.