สาเหตุของอาการ “แสบท้อง” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
แสบท้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร รวมถึงอาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนทำให้รู้สึกแสบร้อนในท้อง อาการปวดแสบท้องอาจรุนแรงขึ้นหลังรับประทานอาหาร หรือเมื่อนอนราบ แม้จะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่หากเป็นบ่อยและรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด
อาการแสบท้อง เป็นอย่างไร
แสบท้อง คือ อาการแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน มักเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร จนอาจส่งผลให้มีอาการปวดแสบท้อง หากมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนที่ควรรักษาทันที นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้เช่นกัน
อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกับอาการแสบท้อง
เมื่อเกิดอาการแสบท้อง อาจเกิดอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
- ปากมีรสขมหรือรสเปรี้ยว
- กลืนลำบาก
- เจ็บหน้าอกหลังรับประทานอาหาร
- อาการปวดแสบร้อนอาจหนักขึ้นเมื่อนอนราบ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดเมื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารลำบากจนทำให้น้ำหนักลด รักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแสบท้องมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอ
สาเหตุของอาการแสบท้อง
ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้
- กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน อาหารทอด กระเทียม หัวหอม ผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งอาจไปเพิ่มกรด จนมีกรดเกินในกระเพาะอาหาร
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ความเครียด ความวิตกกังวล อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือกรดไหลย้อน
- การสูบบุหรี่ อาจกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้าหรือน้อยลง จนอาจส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้
การวินิจฉัยอาการแสบท้อง
คุณหมออาจวินิจฉัยอาการแสบท้องด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การส่องกล้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร
- การเอกซเรย์ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานสารละลายแบเรียมซัลเฟต (Barium sulfate) ก่อนเข้ารับการเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้เกิดภาพภายในระบบทางเดินอาหารที่คมชัดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการแสบท้องได้ง่ายขึ้น
- การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือไม่
การรักษาอาการแสบท้อง
อาการแสบท้องอาจรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายในร้านขายยา เช่น
- ยาลดกรด อาจช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการแสบท้อง และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยได้ด้วย
- ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole)
การป้องกันอาการแสบท้อง
อาการแสบท้องอาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจกระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน เครื่องดื่มคาเฟอีน
- แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้อาหารย่อย หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่รัดแน่นเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.