ล้างผักผลไม้-เลือกเนื้อสัตว์อย่างไร ให้ปลอดภัยช่วงตรุษจีน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะวิธีล้างผักผลไม้ และวิธีเลือกเนื้อสัตว์ในการนำมาประกอบอาหารช่วงไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนให้ปลอดภัยต่อร่างกาย
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นช่วงเวลาการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ มีการเตรียมซื้อวัตถุดิบอาหาร ผัก ผลไม้ ที่มีความหมายเป็นมงคล ซึ่งผลไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สาลี่ และกล้วย เป็นที่นิยมในเทศกาลนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่อาจตกค้างมากับผลไม้มงคลเหล่านี้
ข้อมูลการตรวจตัวอย่างผลไม้ 5 ชนิดข้างต้นในปี 2563-2564 ซึ่งเก็บจากแหล่งจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 298 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงด้วยเทคนิค LC-MS/MS และ GC-MS/MS ตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 132 ชนิด ผลการตรวจดังนี้
- ส้ม จำนวน 91 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 71 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส โปรฟีโนฟอส ไซเพอร์เมทริน และคาร์เบนดาซิม
- องุ่น จำนวน 79 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 46 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ เมทโทมิล ไพริเมทานิล คลอร์ฟีนาเพอร์ และเมทาแล็กซิล
- แอปเปิ้ล จำนวน 77 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 20 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 26 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส ไซเพอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ไซฟลูทริน และไพริเมทานิล
- สาลี่ จำนวน 37 ตัวอย่าง พบการตกค้าง 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ไบเฟนทริน คาร์เบนดาซิม และบูโพรเฟซิน
- กล้วย จำนวน 14 ตัวอย่าง พบการตกค้างจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21 สารที่ตรวจพบ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส
จากการตรวจพบสารสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สื่อสารข้อมูลการตรวจพบนี้ ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อประกอบการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
วิธีล้างผักผลไม้ให้ปลอดสารตกค้าง
- ก่อนรับประทานผลไม้ทุกครั้ง ควรนำมาล้างทำความสะอาดสำหรับผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม สาลี่ ให้แช่น้ำก่อนแล้วล้างด้วยน้ำไหลและใช้มือถูเปลือกไปพร้อมกัน
- ผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ให้นำไปล้างด้วยน้ำไหลผ่านก่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำสะอาดทั้งพวงโดยไม่ต้องเด็ดออกเป็นลูก เนื่องจากอาจจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำซึมเข้าทางแผลที่ขั้วหรือเปลือกได้
- การปอกเปลือกออกก่อนรับประทานจะเป็นการลดปริมาณสารตกค้างได้ เป็นอย่างดีเพราะสารตกค้างส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่เปลือกของผลไม้
การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาล
นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิแผนอาหารฯ สสส. ระบุถึงวิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเอาไว้ ดังนี้
- เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก
- เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
- เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด
- ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ
- เนื้อไก่ที่สดต้องสังเกตเนื้อที่มีสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว
- เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น
- สังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่
- ก่อนนำเนื้อหมู เนื้อไก่ ไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดและปรุงสุก 100% ก่อนบริโภคทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์
- ควรงดบริโภคเนื้อหมูที่สุกๆ ดิบๆ
- แนะนำว่าควรเลือกซื้อสินค้าจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์OK" ทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ
บริโภคอย่างไร ห่างไกลโรคในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ระบุถึงหลัก 5 ประการสู่อาหารปลอดภัย (Five Keys to Safer Food Manual) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประกอบด้วย
- รักษาความสะอาด ต้องล้างมือก่อนบริโภคอาหาร และก่อนเตรียมอาหารทุกครั้ง บริเวณเตรียมอาหารต้องสะอาด โดยเฉพาะโต๊ะ เขียง เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่อาจติดมาได้
- แยกอาหารที่ปรุงสุกแล้วออกจากอาหารดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์และอาหารทะเล รวมถึงของเหลวจากเนื้อสัตว์ อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ สามารถแพร่กระจายไปสู่อาหารอื่นๆ ในขณะปรุงอาหารหรือเก็บอาหาร
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อ เนื้อไก่ ไข่ และอาหารทะเล ต้องสุกถึงด้านใน ซึ่งการปรุงที่ถูกวิธีและถูกสุขลักษณะจะทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายได้เกือบทุกชนิด
- เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเชื้อจุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ที่อุณหภูมิห้อง และจะหยุดเจริญหรือเพิ่มจำนวนช้าลง ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส
- ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร การเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารอย่างถูกวิธีและการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยเบื้องต้นจะลดความเสี่ยงจากการบริโภคสารปนเปื้อนในอาหาร
- ระวัง! ควันธูป-เผากระดาษ เสี่ยงก่อมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.