เฟซบุ๊ก เผย ปัญหาเพจปลอมซับซ้อน มิจฉาชีพมีเงินทุน-ทำงานเป็นเครือข่าย

น.ส.เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก เมตา  ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสสอง ปี 2566 เมตา ได้ลบบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกด้วยเทคโนโลยีเอไอ ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ โดยก่อนหน้านั้นในเดือน ธ.ค.2565 ได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัย หลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น ซึ่ง 95.3% ตรวจจับโดยเอไอและยังดำเนินการกับปัญหาการปลอมแปลงตัวตน เป็นผู้อื่น ทั้งในเชิงธุรกิจและโฆษณาต่าง ๆ

เรื่องเพจปลอมที่มีการซื้อโฆษณาเพื่อใช้หลอกลวงนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมิจฉาชีพก็พยายามหาช่องทางต่างเพื่อให้รอดจากการตรวจจับจากเอไอ ซึ่งก็มีการให้บุคคลในการตรวจคัดกรองด้วย ซึ่งหากผู้ใช้งานพบเพจหลอกลวงก็สามารถรายงานเข้ามายังเฟซบุ๊กเพื่อตรวจสอบและระงับบัญชี โดยเร็ว

ต้องยอมรับว่า ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ ( สแกม) เป็นประเด็น ที่มีความท้ายท้าย และมีความเชื่อมโยงกับ เครือข่ายที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทำเป็นรูปแบบกระบวนการ  และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น โดยสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย จึงต้องมีการพัฒนา และปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ด้าน น.ส.อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทยจาก เมตา กล่าวว่า ได้บูรณาการ ความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม หากพบว่าบัญชีใด มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลและ ดีอี ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาหลอกลวงออนไลน์ โดยขอให้โซเชียลมีเดียเข้มข้นในการระวังเรื่องขายโฆษณาให้คนร้าย โดยต้องทำงานร่วมกับดีอี อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาโจรออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับกระทรวงดีอี มีนโยบายเชิงรุก เน้นที่การป้องกัน ตัดตอน และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สรุปได้ดังนี้

1. การป้องกัน โดยเฉพาะการให้ความรู้และการปิดกั้นเว็บหรือ เพจหลอกลวง ซึ่ง ดีอี ได้เปลี่ยนวิธีการใช้คน ดีอี มากขึ้น ร่วมมือกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากขึ้น จากเดิม ปี 2566 ปิดกั้นเว็บ/เพจผิดกฎหมาย เฉลี่ยสถิติ 53 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 1500 รายการต่อเดือน) เป็นเฉลี่ย 350 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 10,500 รายการต่อเดือน)

2. การเร่งตัดตอนวงจรอาชญากรรม โดยเฉพาะซิมม้า (โจรใช้ติดต่อสื่อสาร) บัญชีม้า (โจรใช้รับ-โอนเงิน) ซึ่งตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา ผู้ขายมีโทษหนัก จำคุก 3 ปี ผู้เป็นนายหน้าจัดหามีโทษจำคุก 2 – 5 ปี และมีการเร่งแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปิดบัญชี จับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง  

3. การบูรณาการทำงาน ใช้เทคโนโลยีเชิงรุก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) เพื่อบูรณาการทำงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงาน กสทช. เป็นต้น เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บุคลากร และแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.