นักวิชาการ หนุน รัฐถอยเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล
จากกรณี ล่าสุด อนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน ได้ประกาศปรับเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ในหลายประเด็น โดยเสนอ 3 แนวทางแจกเงินให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมช.คลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเลือกแนวทางผู้ที่ได้รับสิทธิ์ รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ในสัปดาห์หน้า โดยอาจแจกเงินให้เฉพาะผู้ยากไร้ หรือผู้ที่มีรายได้ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด นั้น
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า การปรับลดเงื่อนไขการแจกเงินในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล สะท้อนได้ว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ จึงจำเป็นต้องจำกัดกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการลดลง จากเดิมที่จะแจกให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังได้ปรับวงเงินให้น้อยลงเหลือ 5.4 แสนล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 5.6 แสนล้านบาท ถือว่า รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงจากเป้าหมายเดิม ที่ต้องการเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง คู่ขนานกับการให้สวัสดิการประชาชน
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วย ที่รัฐบาลจะมีการปรับลดเงื่อนไขลดลง ถ้าไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง และยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงเสถียรภาพการคลัง และรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน แม้การทำนโยบายจะผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมบ้าง อาจทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐิจเบาลง แต่จะช่วยลดผลกระทบด้านการคลังให้ลดลงได้
“ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยรัฐบาลรับฟังเสียงสะท้อน ไม่ดันทุรังดันเดินหน้าตามกรอบเดิม แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ 1 คือ ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท ทางนี้จะกระทบน้อยหน่อย หรือทางเลือก 2 คือ ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาท ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลกระทบด้านการคลัง เพียงแต่ทำให้ผลกระทบด้านการคลังลดน้อยลง เพราะต้องใช้งบประมาณถึง 4.3 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะอยู่ดี ” รศ.ดร.สมชายกล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลต้องไปชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าจะพิจารณาใช้แนวทางใด ที่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ โดยจะสร้างผลกระทบด้านการคลังให้น้อยที่สุด เพราะเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ยกเลิกโครงการ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน และภาคธุรกิจ
“รัฐบาลต้องไปชั่งน้ำหนักให้ดี อยากแนะนำอยากให้รัฐบาลเดินทางสายกลาง ชั่งน้ำหนักระหว่างเสียงเรียกร้อง หรือความต้องการของประชาชน กับเสถียรภาพทางการคลัง หมายถึง มีการให้ระดับหนึ่ง และมีการรักษาเสถียรภาพทางการคลังด้วย เพราะหากทำตามเสียงทุกคนคงจะลำบาก” รศ.ดร.สมชายกล่าว
สำหรับ 3 แนวทางการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่อนุกรรมการฯ เตรียมเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณา คือ
1.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ที่มีราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
2.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
3.ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.