เปิดพันธกิจ CDIP ตัวเชื่อม SME ไทย เขาถึงงานวิจัยยกระดับสินค้าสู่สากล
สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP กำเนิดขึ้น เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างงานวิจัยไทยและผลิตภัณฑ์ SME ไทย ซึ่งเข้าถึงยาก และมีราคาสูง ขณะที่งานวิจัยเองก็อยู่เฉพาะบนหิ้ง อยู่กับนักวิจัย และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เท่านั้น ไม่มีผู้นำไปใช้
ทำให้สินค้า SME ที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ ไม่มีนวัตกรรมของตนเอง เน้นเลียนแบบนวัตกรรมของต่างประเทศ ที่ตนเองมีประสบการณ์จากการรับจ้างผลิตมาก่อน และพัฒนามาสู่แบรนด์ของตนเอง
CDIP จึงต้องการเป็นตัวเชื่อมระหว่างงานวิจัยสู่เจ้าของแบรนด์ ทำให้บริษัทกลายเป็น Innovation Service Provider ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเป็นเอกชนเพียงไม่กี่รายในประเทศไทย ที่ให้บริการด้านนี้
สิทธิชัย กล่าวว่า CDIP เป็นบริษัทลูกของ JSP ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตยาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ โดย JSP ถือหุ้นอยู่ 65% ทำให้ CDIP จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ JSP กลายเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร คือธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาและการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ซึ่งถือเป็นหัวใจของการต่อยอดสู่การผลิตยาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์
ปัจจุบันสินค้าด้านสุขภาพของไทยมีจำนวนไม่น้อยที่มีคุณภาพสูง แต่ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากไม่มีงานวิจัยรองรับ โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยได้มาจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง CDIP จึงเป็นการเปิดกว้างให้ SME และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงการทำวิจัยและยกระดับสินค้าให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้กว้างขึ้น ก้าวข้ามข้อจำกัด และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
สิทธิชัย เล่าว่า ข้อดีของ CDIP คือ บริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่สวทช. จึงสามารถเข้าถึงงานวิจัย เครื่องมืออุปกรณ์ด้านงานวิจัย มีห้องแลปขนาดใหญ่ ได้รับมาตรฐานระดับสากลและเครือข่ายนักวิจัยระดับปริญญาเอกทั้งจากสวทช.และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตนเองหรือต้องการนำสินค้าเกษตรมาเพิ่มมูลค่า สามารถรับคำปรึกษาได้ตั้งแต่ การนำงานวิจัยมาพัฒนา การทำผลิตภัณฑ์ทดลองใช้ ไปจนถึงการหาโรงงานรับจ้างผลิตให้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท มีมูลค่าการรับงานตั้งแต่ 3,000 บาทถึง 2 ล้านบาท โดยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 200 โครงการ คิดเป็นประมาณปีละ 20 โครงการ
SME ที่เข้ามาใช้บริการของบริษัท ใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะบริษัทมีส่วนงานให้คำปรึกษาการยื่นขอทุนวิจัยด้านการวิจัยและพัฒนา กับหน่วยงานต่างๆด้วย บางทีให้เปล่า 50% ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่คิดจริงที่ต้องจ่ายบริษัทจึงไม่มากเหมือนกับบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ
นอกจากนี้ CDIP ยังให้บริการฝึกอบรมการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ สินค้าเกษตร ให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการสอนขายออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้ง TikTok และ Facebook ซึ่งรายได้จากส่วนนี้เป็นรายได้หลักของบริษัท เนื่องจากได้รับงบประมาณภาครัฐในการจัดอบรมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทได้งบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) อย่างต่อเนื่อง
หัวใจหลักในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความต่าง คือการนำนวัตกรรมมาช่วย เมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ เน้นขายข้าวอินทรีย์ ทุกคนก็ขายในรูปแบบข้าวสาร แค่ทำแพ็กเกจให้สวยงาม แต่เมื่อนำนวัตกรรมเข้ามา ข้าวอินทรีย์ สามารถนำสกัดเพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ทั้งครีมทาผิว อาหารเสริม เป็นต้น หรือ แม้แต่กล้วยที่ใช้ส่วนอื่นแปรรูปหมดแล้ว เหลือแต่ลำต้น ก็สามารถนำงานวิจัยที่มีต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยได้ แม้แต่วิธีการใส่สารกันบูดอย่างไรให้ถูกต้อง ในปลาร้า ปลาส้ม ก็จำเป็นต้องนำงานวิจัยที่มีการพิสูจน์มาแล้วว่า วิธีการใส่ให้ได้ผล และเหมาะสมต้องทำอย่างไร เหล่านี้คือสิ่งที่ตอบคำถามว่า ทำไมนวัตกรรมจึงสำคัญและสร้างความต่างได้
สิทธิชัย กล่าวว่า แม้ว่าหลังสถานการณ์โควิด ผู้ประกอบการรายใหม่หดตัว เนื่องจากกังวลเรื่องกำลังซื้อในตลาด แต่กลับพบว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของ SME รายใหม่ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาในตลาด และ SME รายเก่าในการปรับเปลี่ยนสินค้าของตนเอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ CDIP ยังมีธุรกิจปลายน้ำซึ่งเป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ผ่านตู้กดยา Medis ทำการจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เพื่อมาแก้ข้อจำกัดของการเข้าถึงยาในเวลากลางคืนที่ร้านขายยาปิดให้บริการแล้ว รวมถึงแก้ข้อจำกัดในเรื่องเภสัชกรประจำร้านขายยาที่ขาดแคลนอยู่
ปัจจุบัน ตู้ Medis ให้บริการแล้วจำนวน 44 ตู้ ในคอนโด LPN มียาสามัญประจำบ้านให้บริการ 40 รายการต่อตู้ โดยมีแผนขยายจำนวนตู้ในปีหน้าเพิ่มขึ้น 200 ตู้และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ตู้ในอนาคต โดยเน้นขยายไปยังโครงการที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน ในอนาคตตู้ Medis จะสามารถให้บริการปรึกษากับเภสัชกรออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยแก้ไขข้อจำกัดที่มีในปัจจุบันให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพและยารักษาโรคที่มีคุณภาพมากขึ้น
ภายในปี 2568 CDIP ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) และในระยะยาวไม่เกิน 5 ปีตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.