TDRI ชี้ "แลนด์บริดจ์" เสี่ยงไม่คุ้มทุน
มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(แลนด์บริดจ์) และให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติ เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ฝ่ากระแสข่าวว่า รัฐบาลนายเศรษฐา อาจไม่สานต่อโครงการอภิมหาโปรเจกต์นี้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลมีหลายโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ด้วยมูลค่าการลงทุนโครงการนี้มากถึง 1 ล้านล้านบาท รวมถึงความกังวลถึงความไม่คุ้มค่า และความพร้อมของสภาพทางเศรษฐกิจในเวลานี้
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ได้วิเคราะห์ถึงการลงทุนของภาครัฐในโครงการ แลนด์บริดจ์ ว่า ในหลายวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตโดยเฉลี่ยลดลงจากเดิมมาโดยตลอด โดยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ 7-8% หลังวิฤกต เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงเหลือแค่ 4-5%ต่อปี และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ 4-5% หลังกฤต เหลือเพียง 3.6%
วิกฤตล่าสุด โควิด-19 ผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่า ก็เหมือนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำกว่าเดิมอีกครั้ง โดยก่อนวิกฤตโควิด-19 จากการเติบโตที่ 3.6% ลดลงเหลือเพียง 3.0% หลังโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งนี้สะท้อนว่าประเทศไทยต้องการกลจักรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งในแวดวงวิชาการ มีข้อเสนอว่า กลจักรตัวใหม่ คือ การเร่งพัฒนาในเรื่องของ Net-Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ซึ่งครอบคลุมหลายกิจกรรม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม EV เป็นต้น
คำถามก็คือ โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นหนึ่งในกลจักรตัวใหม่ของไทยได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็ คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะมีใครมาเป็นผู้ใช้ และจะสร้างผลประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โครงการนี้อาจจะใช้เป็นทางผ่านของพลังงาน และทางผ่านของสินค้าบางประเภท ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนที่ได้จากการประมาณการของภาครัฐจะพบว่าอาจจะไม่คุ้มทุน หรือใช้เวลานานมากกว่าจะคุ้มทุน
การจะคุ้มทุนให้เร็วขึ้น อาจจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดในเชิงพื้นที่ เช่น การเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง หรือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบ EEC ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งแปลว่าต้องใช้งบประมาณมากขึั้น และมีความไม่แน่ชัดถึงความเหมาะสมในเชิงศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม ในด้านของเม็ดเงินลงทุน โครงการนี้ยังไม่แน่ชัดว่า จะใช้เงินจากแหล่งทุนใด โดยข้อเสนอการพัฒนาโครงการนี้ของพรรคภูมิใจไทยจะใช้เงินในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public. Private Partnership) หรือ PPP ซึ่งทำให้ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นเงินของภาครัฐมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนของภาครัฐที่ใช้มักจะกระจายเงินเป็นงวดๆ ทำให้หากภาครัฐต้องจ่ายเงินทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า ก็จะกระจายออกเป็นรายปี เช่น ถ้ากระจาย 7-10 ปีก็จะเหลือปีละหลักแสนกว่าล้านบาท ทำให้ผลกระทบทางการคลังไม่มากนัก
“ส่วนตัว มองว่าโครงการมีความไม่แน่นอนสูงในเรื่องของผลตอบแทน และการใช้ประโยชน์ จึงควรจะต้องมีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนให้มาก เพราะเอกชนมีการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น หากจะใช้เป็นทางผ่านของพลังงาน ก็ควรจะมีทุนของธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย อาจจะเป็น ปตท. หรือ ทุนของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เช่นเดียวกันกับการส่งผ่านสินค้า” ดร.นณริฏ กล่าว
ดร.นณริฎ ยังเสนอด้วยว่า อยากเห็นการสำรวจบริษัทเดินเรือว่า มีความสนใจที่จะใช้บริการมากน้อยเพียงใด เพราะว่ารูปแบบของแลนด์บริดจ์แม้ว่าจะลดระยะเวลาในการขนส่ง แต่ก็มีต้นทุนในการเปลี่ยน Mode ค่อนข้างเยอะ โดยเรือต้องขนสินค้าลงรถบรรทุก แล้วรถบรรทุกก็ต้องขนขึ้นรถไฟเพื่อขนไปปลายทางก่อนจะต้องกลับมาขนลงรถบรรทุกเพื่อกลับไปส่งที่เรืออีกที หรือ ประเด็นที่ต้องใช้เรือทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ระบบการจัดการเรือจะยากขึ้น ไม่เหมือนกับการผ่านช่องแคบมะละกาที่ใช้เรือลำเดียวไปได้ตลอดทางเป็นต้น
“ เห็นว่า การพัฒนา EEC เป็นโครงการที่สำค้ญที่ควรจะต่อยอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโครงการอื่นๆ จะทำไปพร้อมๆ กันไม่ได้ เพราะงบประมาณที่ใช้แต่ละปีจะเห็นได้ว่าไม่มากนัก ถ้ากระจายรายปี โจทย์สำคัญคือ ไทยต้องการกลจักรตัวใหม่ที่ใช้งานได้จริง สร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง ไม่ใช่การสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์อย่างไม่เต็มมูลค่า” ดร.นณริฏ กล่าว
สำหรับโครงการ แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ วงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท ประเมินกันว่าเม็ดเงินลงทุนเทียบเท่าการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพจำนวน 10 สายรวมกัน โดยแบ่งกรอบการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 141,716.02 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,212.00 ล้านบาท
ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644.75 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952.30 ล้านบาท
ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 73,221.99 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 39,361.04 ล้านบาท
ระยะที่ 4 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 16,897.57 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 คน โดยจะช่วยผลักดันทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ที่ 4.0% ต่อปี เพิ่มมาเป็น 5.5% ต่อปี
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.